นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงการออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (แอลทีวี) เมื่อเดือน พ.ย.61 และเริ่มมีผลเมื่อเดือน เม.ย.62 ว่า เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางเพื่อ รักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เพราะเห็นสัญญาณที่ไม่ดี หลายอย่างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงประมาณ 12-18 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีสัญญาที่กู้ที่ 2 สัญญาที่ 3 สัญญาที่ 4 ที่เกิดขึ้น ในขณะที่หลังแรกยังผ่อนไม่หมด นอกจากนี้ ยังพบการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน และเริ่มเห็นจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ตอนแรกกระจุกตัวอยู่กับบางธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้น สถาบันการเงินก็ลดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อในหลากหลายรูปแบบ จนกลายเป็นกรณีสินเชื่อเงินทอน
ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.เห็นสถานการณ์รุนแรงขึ้น จึงส่งทีม ลงไปดูข้อมูลส่วนกลางและข้อมูลรายพื้นที่ ปลอมตัวไปซื้อบ้าน ทำให้พบว่ามีการกู้ที่ไม่ได้เป็นความต้องการอยู่จริง และมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นมาก ถ้าปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ จำนวนที่อยู่อาศัย ส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น จนเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ค่อน ข้างเบามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ คือ การเพิ่มเงินดาวน์ สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยที่ไม่ใช่บ้านหลังแรก ซึ่งผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกไม่ได้รับผลกระทบ และขอยืนยันอีกครั้งว่าเจตนาของ ธปท.ไม่ต้องการให้คนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกได้รับผลกระทบ ความจริงมาตรการที่ออกมานั้นช่วยคนที่อยากมีบ้านเป็นครั้งแรกสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม และเป็นมาตรการจะเน้นคนที่เก็งกำไร
นอกจากนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาหลังมาตรการออกใช้ พบว่ามีผล ให้สินเชื่อรวมลดลงบ้าง แต่ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งกู้เงินในช่วงก่อนหน้า ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ก่อนมาตรการมีผล ดังนั้น ข้อมูลจะดูเฉพาะตัวเลขของเดือน เม.ย.และ พ.ค.ไม่ได้ต้องดูข้อมูล 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งประเทศยังเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยยังขยายตัวไม่ได้ลดลง.