ธนาคารโลกลดเป้าเศรษฐกิจไทย เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวทรุด-การเมืองซ้ำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธนาคารโลกลดเป้าเศรษฐกิจไทย เหตุส่งออก-ท่องเที่ยวทรุด-การเมืองซ้ำ

Date Time: 9 ก.ค. 2562 08:15 น.

Summary

  • ธนาคารโลก ลดเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.5% จาก 3.8% ตามส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอตัว แต่ห่วงสุดคือ “การเมือง” เหตุทำลงทุนรัฐล่าช้า และนโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ต่อเนื่อง

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ธนาคารโลก ลดเป้าเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 3.5% จาก 3.8% ตามส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอตัว แต่ห่วงสุดคือ “การเมือง” เหตุทำลงทุนรัฐล่าช้า และนโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ ผู้ว่า ธปท. รับค่าบาทแข็งจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อน และไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด พร้อมสกัดเงินร้อน ถ้าไหลเข้าผิดปกติ

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด ที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นว่า ธนาคารโลกลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือขยายตัว 3.5% จาก 3.8% ส่วนปี 63 คาดขยายตัว 3.6% และปี 64 ขยายตัว 3.7% สาเหตุที่เศรษฐกิจปีนี้ชะลอลง เป็นผลจากไตรมาสแรก การส่งออกหดตัวมากสุดในรอบ 3 ปี รวมถึงการลงทุนภาครัฐที่ลดลงจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ชะลอตัว เพราะการเลือกตั้งล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัว 2.8% ต่ำสุดในอาเซียน นอกจากนี้ รายได้จากภาษีของรัฐลดลง ส่วนหนึ่งจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชน เติบโตในอัตราชะลอลง เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกที่ติดลบ อีกทั้งการท่องเที่ยว ยังลดลงจากเศรษฐกิจโลก

“แต่ความเสี่ยง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตต่ำกว่าประมาณการ คือ การเมือง จากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ส่งผลให้การลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐล่าช้า และเสี่ยงที่จะไม่ทำตามแผนเดิมสำหรับโครงการที่ยังไม่ลงนามก่อสร้าง อีกทั้งการเป็นรัฐบาลผสม อาจทำให้นโยบายเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง และอาจมีปัญหามากขึ้น หากรัฐบาลใหม่อยู่ได้ไม่นาน ทำให้คาดว่า การลงทุนภาครัฐในโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะล่าช้า 3 เดือน หรือมากกว่านั้น และมีความเสี่ยงต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีสำหรับโครงการที่ยังไม่ลงนามสัญญา ส่วนนโยบายการเงินขณะนี้ ยังเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินบาท ใกล้เคียงกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนการลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องติดตามความเสี่ยง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง”

ขณะที่นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกเห็นค่าบาทแข็งค่ากว่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาค แต่ก็เห็นพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีขึ้น จึงทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่เงินประเทศอื่นอ่อนค่าลงตามภาวะเศรษฐกิจประเทศ “ทั้งหมดนี้เป็นสารของผู้กำหนดนโยบายว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังดี แม้ชะลอลงบ้าง แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลก ส่วนเงินเฟ้อยังต่ำ ขณะนี้จึงยังไม่เห็นเหตุผลที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเปลี่ยนแปลง”

ส่วนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.3% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา ถือว่าต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ จากการส่งออกที่คาดไม่ขยายตัวในปีนี้ และการท่องเที่ยวชะลอลง แต่ครึ่งหลังของปีนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัว จากความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาล และนโยบายของรัฐ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนสามารถเดินหน้าต่อได้ และหากจำเป็น รัฐบาลใหม่ สามารถทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ ขณะที่การส่งออกครึ่งหลังจะฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน

“ส่วนหนึ่งที่ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย แม้ลดเป้าเศรษฐกิจเหลือ 3.3% เพราะมองว่าปีหน้า เศรษฐกิจจะฟื้นมาที่ 3.7% จึงไม่จำเป็นต้องปรับนโยบายการเงินทันที ส่วนการแข็งค่าของเงินบาท มาจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ไม่มากนัก ประมาณ 10% ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด สำหรับเงินไหลเข้าในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ราว 1,800-1,99 ล้านเหรียญฯ หากเห็นการไหลเข้าของทุนต่างชาติที่ผิดปกติ หรือทำให้ค่าเงินบาทผิดไปจากปัจจัยพื้นฐาน ก็พร้อมออกมาตรการดูแล”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ