"คีรี" ลุ้นคว้าพัฒนาเมืองการบิน ไม่ผิดหวังวืดรถไฟความเร็วสูง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"คีรี" ลุ้นคว้าพัฒนาเมืองการบิน ไม่ผิดหวังวืดรถไฟความเร็วสูง

Date Time: 24 มิ.ย. 2562 07:30 น.

Summary

  • “คีรี” รอลุ้นโครงการพัฒนาอู่ตะเภาและเมืองการบิน หลังบีทีเอสพลาดโครงการ รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินให้แก่ซีพีไป เผยไม่ผิดหวังเพราะทำเต็มที่แล้ว ยังมีโครงการรอให้ประมูลอีกเยอะ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย



“คีรี” รอลุ้นโครงการพัฒนาอู่ตะเภาและเมืองการบิน หลังบีทีเอสพลาดโครงการ รถไฟความเร็วสูง 3 สนามบินให้แก่ซีพีไป เผยไม่ผิดหวังเพราะทำเต็มที่แล้ว ยังมีโครงการรอให้ประมูลอีกเยอะ เดินหน้าเจรจาลดราคาค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นเหลือ 65 บาท ย้ำค่าโดยสารทั่วโลก ส่วนใหญ่รัฐบาลอุดหนุนราคาทั้งนั้น

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้บีทีเอสจะพลาดหวังจากการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) แต่ก็ไม่ได้เสียใจหรือผิดหวัง เพราะถือว่าทำเต็มที่แล้ว โดยจะเดินหน้าลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะระบบการขนส่งมวลชนต่อไป “เราไม่ได้ตื่นเต้นอะไร จะได้หรือไม่ได้ทำ ถ้ามีคนที่ทำได้ราคาถูกกว่าเรา ก็ให้เขาทำไปเถอะ ยังมีโครงการรอให้ประมูลอีกเยอะ”

นายคีรี ยังกล่าวถึงการประมูลโครงการพัฒนา สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งบีทีเอสเข้าประมูลในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส อันประกอบด้วยบีทีเอส บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มบางกอกแอร์เวย์ส และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า กลุ่มบีทีเอสกำลังรอการประกาศชื่อผู้ผ่านซองคุณสมบัติ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประกาศรายชื่อออกมา

ทั้งนี้ การประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกลุ่มเอกชนรายใหญ่ของไทยและพันธมิตรเข้ายื่นซองประมูลทั้งสิ้น 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด (ในนามกลุ่มซีพี) และ 4 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บี. กริม.จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท โอเรียนท์ซัคเซส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 2.กลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งอยู่ในกลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด และ 2 พันธมิตรต่างประเทศมี 2 รายได้แก่ ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จากประเทศจีน และ GMR Airport จากประเทศอินเดีย 3.กลุ่มบีเอสเอส

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันยื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา เกิดกรณีกลุ่มซีพีมายื่นเอกสารบางส่วนไม่ทันตามเวลาที่กำหนด ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกตัดสินใจไม่รับเอกสารที่ส่งไม่ทัน อันได้แก่ ซอง 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ และซอง 3 ข้อเสนอด้านราคา ทำให้กลุ่มซีพียื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง รวมทั้งได้ยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่กระบวนการประมูลต่อได้ ขณะที่ในการประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนั้น กลุ่มซีพีและกลุ่มบีทีเอส ล้วนเข้าประมูลเช่นกัน แต่ซีพีเป็นผู้ชนะการประมูล

นายคีรี กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจของบีทีเอส ในช่วงครึ่งปีแรกว่าจำนวน ผู้โดยสารไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงวันทำงานมีผู้โดยสารอยู่ประมาณวันละ 800,000 คน ส่วนวันหยุดที่ 500,000 คน “ปีนี้เราตั้งเป้าผู้โดยสารเติบโต 4-5% เพราะแม้ปีนี้จะมีวันหยุดยาวหลายวัน ซึ่งกระทบต่อรายได้ที่ลดลง แต่การที่เรามีส่วนต่อขยายบริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าจะสามารถทำยอดเติบโตได้ตามเป้า”

เขายังกล่าวถึงขั้นตอนในการเจรจาแก้ไขสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-แบริ่ง) เพื่อให้เป็นไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ ม.44 ซึ่งต้องการให้กำหนดค่าโดยสารตลอดเส้นทางที่ 65 บาท รวมส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง—สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการเจรจาร่วมกับบีทีเอสแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่ ม.44 กำหนด โดยหากไม่มีการปรับลดราคา ค่าโดยสารตลอดเส้นทางสูงสุดจะอยู่ที่ 140 บาท

“ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยนั้น ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลกได้ เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศส่วนใหญ่ให้เงินสนับสนุนค่าโดยสารเพื่อไม่ให้แพงเกินไป โดยสนับสนุนในหลากหลายวิธี เช่น ในจีนให้เงินสนับสนุนโดยตรง ค่าโดยสารรถไฟที่จีนจึงถูกมาก ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนสร้างเองเลย และที่นิวยอร์ก ใช้วิธีเก็บภาษีจากอาคารริมทางรถไฟ เพราะถือว่าได้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ แล้วนำมาสนับสนุนค่าโดยสาร เป็นต้น”

นายคีรี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ว่า เป็นไปตามเป้าหมาย ไม่ล่าช้าจึงคาดว่าจะแล้วเสร็จตามกำหนดปี 2564 ส่วนในปีนี้จะเดินหน้าเข้าประมูลระบบเดินรถโครงการสายสีส้ม (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางเนื้อหอม เพราะน่าจะตอบโจทย์ด้านการทำรายได้ รองลงมาจากสายสีเขียว, สายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ), รถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา LRT (บางนา-สุวรรณภูมิ) และรถรางที่ภูเก็ตด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ