เอกชนจี้คุมดอกเบี้ยเงินกู้-ทบทวนภาษีที่ดิน ชงรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนจี้คุมดอกเบี้ยเงินกู้-ทบทวนภาษีที่ดิน ชงรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำ

Date Time: 17 มิ.ย. 2562 07:30 น.

Summary

  • หอการค้าไทย ชงรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จี้คุมธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเงินกู้รายเล็ก-ใหญ่เท่ากัน ทบทวนภาษีที่ดินใหม่ และประกันรายได้เกษตรกรเพื่อความมั่งคั่ง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

หอการค้าไทย ชงรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ จี้คุมธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเงินกู้รายเล็ก-ใหญ่เท่ากัน ทบทวนภาษีที่ดินใหม่ และประกันรายได้เกษตรกรเพื่อความมั่งคั่ง

นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าภูมิภาคได้ จัดทำรายละเอียดของยุทธศาสตร์ต่างๆในแต่ละภูมิภาค เพื่อเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งอาจเสนอในนามของหอการค้าไทย หรือคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยเฉพาะประเด็นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางรายได้ของประเทศ ที่องค์กรระดับโลกหลายแห่ง ประเมินว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเบื้องต้นต้องการให้รัฐบาลผลักดันให้สถาบันการเงินให้คิดอัตราดอกเบี้ยของลูกค้า ชั้นเดียวกันทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ให้เท่ากัน เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) มีภาระต้นทุนการกู้เงินที่สูงกว่ารายใหญ่ ประมาณ 1-2%

นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลใหม่พิจารณาทบทวนการลดภาษีที่ดิน ที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ในปี 63 เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าภาษีที่ดินเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีกิจการอยู่ตามตึกแถว ที่ต้องเสียภาษีในอัตราปีละ 0.3-0.7% ของมูลค่าที่ดินตามราคาประเมิน

“ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีตึกแถวส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ติดถนน ในย่านธุรกิจหรือในเมือง ซึ่งราคาประเมินที่ดินก็ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ต่างจากโรงงานของภาคการผลิตที่ไม่ได้อยู่ในตัวเมือง ทำให้ราคาประเมินต่ำกว่าตึกแถวในเมือง แต่เชื่อว่า ไม่ใช่เฉพาะเอสเอ็มอีเท่านั้นที่เดือดร้อนจากกฎหมายภาษีที่ดินฉบับใหม่ แต่จะมีทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก รายใหญ่เดือดร้อนเหมือนกันหมด”

นายปรัชญา กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรและผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ เพราะปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่เดือดร้อนมากจากรายได้ที่ผันผวน และลดลงมาก โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งในเบื้องต้นภาครัฐต้องผลักดันวิธีการประกันราคาสินค้าเกษตร หรือชดเชยราคาส่วนต่าง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคง ไม่ขาดทุน พร้อมกันนี้ ต้องเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างครบวงจร เพื่อกระจายรายได้สู่ชนบท และส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และยกระดับเอสเอ็มอีให้มีศักยภาพและมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น

ด้านนายจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับภาคกลาง ได้เสนอแนวทางในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน การปรับกระบวนทัศน์และวิธีการคิดแก้ไขปัญหาความยากจนใหม่ และพัฒนาคุณภาพของคน โดยปฏิรูประบบการศึกษา เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินเครดิตสวิส เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยติดอันดับ 3 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย โดยการถือครองสินทรัพย์ของประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% แรกของไทย สูงเกินครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์และความมั่งคั่งของทั้งประเทศ หรือมากกว่าคนไทยอีก 99%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ