กสทช.ใจถึง เคาะคืนเงิน 2 ช่องทีวีดิจิทัล สปริงส์กรุ๊ปเฮ! นำร่องรับพันล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กสทช.ใจถึง เคาะคืนเงิน 2 ช่องทีวีดิจิทัล สปริงส์กรุ๊ปเฮ! นำร่องรับพันล้านบาท

Date Time: 11 มิ.ย. 2562 07:45 น.

Summary

  • อนุกรรมการเยียวยาฯเห็นชอบคืนเงินทีวีดิจิทัล กรณีคืนใบอนุญาต 2 ช่อง รวม 1,175 ล้านบาท แบ่งเป็นช่อง 19 สปริงส์นิวส์ 500 ล้านบาท และช่อง 26 สปริง 675 ล้านบาท ส่วนช่อง 20 ไบรท์ทีวี พิจารณาวันนี้

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

อนุกรรมการเยียวยาฯ เห็นชอบคืนเงินทีวีดิจิทัล กรณีคืนใบอนุญาต 2 ช่อง รวม 1,175 ล้านบาท แบ่งเป็นช่อง 19 สปริงส์นิวส์ 500 ล้านบาท และช่อง 26 สปริง 675 ล้านบาท ส่วนช่อง 20 ไบรท์ทีวี พิจารณาวันนี้ (11 มิ.ย.) ขณะที่ช่องวันแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น หลังทำกำไรครั้งแรกเมื่อปี 2561 จำนวน 28 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ากำไรโต 100% ตั้งเป้าเข้าตลาดปลายปี 2563

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาพิจารณาการคืนเงินทีวีดิจิทัลกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเยียวยาฯ เห็นชอบกรอบวงเงินการจ่ายชดเชยให้กับ ทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ บริษัท สปริง 26 จำกัด ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 26 และบริษัท สปริงส์นิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง 19 ถือเป็น 2 ช่องแรกที่ส่งเอกสารให้พิจารณา และในวันนี้ (11 มิ.ย.) จะพิจารณาการคืนใบอนุญาตและจ่ายเงินชดเชยให้กับช่อง 20 ของบริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด

โดยช่องสปริงส์นิวส์ 19 ยอดเงินประมูล 1,318 ล้านบาท จ่ายค่าใบอนุญาตไปแล้ว 4 งวด วงเงิน 878.20 ล้าบาท ซึ่งหลักการคำนวณเงินชดเชยนั้น คำนวณตามระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่จริง เมื่อไม่ได้ใช้คลื่น ก็จะคืนเงินตามจำนวนวัน เช่น ระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี (256-2575) หรือ 5,749 วัน สปริงส์นิวส์ ใช้คลื่นความถี่ไป 1,339 วัน ส่วนอีก 3,345 วัน ไม่มีการใช้คลื่นความถี่ และจะยุติการออกอากาศในวันที่ 15 ส.ค.2562 นี้ กสทช.จะคืนเงินชดเชยให้ 567.407 ล้านบาท แต่ต้องนำหักค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลสนับสนุน คือค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) 27 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสแครี่) 35 ล้านบาท และผลประกอบมีกำไรสุทธิ 4.412 ล้านบาท ดังนั้นสปริงส์นิวส์ จะได้รับค่าเงินชดเชยสุทธิ 500 ล้านบาท

ส่วนช่องสปริง 26 ยอดเงินประมูล 2,200 ล้านบาท จ่ายค่าประมูลไปแล้ว 3 งวด รวม 1,472 ล้านบาท ระยะเวลาใบอนุญาต 5,479 วัน ยังไม่ได้ใช้งานใบอนุญาตอีก 3,540 วัน คิดเป็นมูลค่าค่าธรรมเนียมที่ไม่ใช้งาน 951 ล้านบาท และเมื่อนำมาหักค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัลวงเงิน 26 ล้านบาท ค่ามัสแครี่ 33 ล้านบาท และไม่มีกำไรสุทธิ ดังนั้น ช่องสปริง 26 จะได้รับเงินชดเชย 890 ล้านบาท แต่เมื่อนำมาหักค้างชำระค่าประมูลงวดที่ 4 วงเงิน 215 ล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินจ่ายชดเชย 675 ล้านบาท

สำหรับการเยียวยาพนักงานสปริงส์นิวส์ 19 และสปริง 26 จะจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและจ่ายเงินเพิ่มกรณีพิเศษอีก 1 เท่าของเงินเดือน แต่ กสทช.ขอให้พิจารณาเพิ่มเติมพิเศษ 3 เดือน จึงขอให้กลับไปพิจารณาใหม่อีกครั้ง

นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวันสามสิบเอ็ด จำกัด กล่าวว่า ช่องวันมีแผนนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปลายปี 2563 หลังจากสามารถทำกำไรได้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 มูลค่า 28 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้ารายได้โต 15% และกำไรโต 100% ซึ่งจากที่ผ่านมาครึ่งปีพบทุกอย่างยังเป็นไปตามเป้าที่วางเอาไว้ “ตามกำหนดเราต้องทำกำไรให้ได้ 3 ปีติดต่อกัน จึงจะสามารถนำหุ้นเข้ากระจายในตลาดฯ ได้”

สำหรับการวัดระดับความนิยม (เรตติ้ง) ในช่วงไพร์มไทม์ของเราขยับขึ้นติด 1 ใน 3 ได้ มาจากการปรับผังช่วงไพร์มไทม์ตั้งแต่ 3 เดือนที่ผ่านมา จากเดิมเป็นเวลาของซิทคอม เปลี่ยนเป็นละคร ทำให้ดันเรตติ้งได้อย่างต่อเนื่อง และจากนี้จะขยับไปสู่การปรับผังในช่วงเสาร์อาทิตย์เพื่อให้คนเปิดช่องวัน 31 แช่ทิ้งไว้เป็นเพื่อนให้มากขึ้น

นายถกลเกียรติยังกล่าวถึง มาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลให้สามารถคืนใบอนุญาต รวมทั้งสนับสนุนการจ่ายค่าเช่าโครงข่าย (Mux) และค่าประมูลที่เหลือว่า ทำให้ประหยัดเงินไปได้ปีละเกือบ 200 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจแน่นอน ขณะที่จำนวนช่องที่เหลือน้อยลงที่ 15 ช่องนั้น คิดว่าเป็นแรงกดดันให้ต้องทำให้ดียิ่งขึ้น เพราะช่องที่เหลือคงไม่ได้จะทำเล่นๆ แน่ ทุกช่องย่อมเอาจริงและตั้งใจจะอยู่รอดทั้งนั้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ