แห่ร้องสายด่วน โรงพยาบาลโขกราคา เริ่มขยายผลควบคุมคลินิก-โรงพยาบาลสัตว์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

แห่ร้องสายด่วน โรงพยาบาลโขกราคา เริ่มขยายผลควบคุมคลินิก-โรงพยาบาลสัตว์

Date Time: 8 มิ.ย. 2562 06:45 น.

Summary

  • ผู้บริโภคแห่ร้องสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 จำนวนมาก หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน ถูกโขกราคาเกินจริง อธิบดียันทยอยตรวจสอบข้อเท็จจริง

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ผู้บริโภคแห่ร้องสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 จำนวนมาก หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน ถูกโขกราคาเกินจริง อธิบดียันทยอยตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เบื้องต้นพบ 1 รายคิดราคาสูงเว่อร์ เชิญมาชี้แจงแล้ว ถ้าเคลียร์ไม่ได้เตรียมส่งตำรวจดำเนินคดี หลังก่อนหน้านี้ส่งฟ้องแล้ว 1 ราย พร้อมขยายมาตรการกำกับดูแลยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้ครอบคลุมคลินิก-โรงพยาบาลสัตว์

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนเข้ามาที่สายด่วนกรม โทร.1569 เกี่ยวกับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแล้วคิดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริง ซึ่งกรมอยู่ระหว่างการทยอยตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบแล้วบางส่วน พบว่า มีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่งคิดค่ารักษาเกินจริงตามที่มีการร้องเรียน ขณะนี้ได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้มาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว

“ถ้าไม่สามารถชี้แจงได้ว่าเหตุใดจึงคิดราคายา และค่ารักษาพยาบาลสูงเกินไป หรือชี้แจงแล้วไม่สมเหตุสมผล จะดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที กรณีขายสินค้าราคาสูงเกินจริง จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากก่อนหน้านี้ กรมได้แจ้งความดำเนินคดีกับโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่งไปแล้ว เพราะคิดค่ายา และค่ารักษาสูงเกินจริง”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ายาแพง มักนำเอาค่าใช้จ่ายอื่นๆไปรวมเป็นราคายาแล้วขายให้ประชาชน เช่น ค่าเภสัชกร ค่าแอร์ ค่าเก็บสต๊อก ค่าลงทุนต่างๆ แต่ภายหลังจากประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 52 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งราคาซื้อ และขาย มาให้กรมภายในวันที่ 12 ก.ค.62 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.62 ส่งผลให้โรงพยาบาลเอกชนจะคิดราคาแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว ราคายาและเวชภัณฑ์ ต้องมีต้นทุนจากราคาที่ซื้อมาบวกกำไร เท่านั้น ส่วนค่าบริการทางการแพทย์ สามารถคิดราคาแตกต่างกันได้ตามระดับของโรงพยาบาล เช่น ระดับ 5-6 ดาว จะแพงกว่าระดับ 2-3 ดาว

นอกจากนี้ ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.62 เป็นต้นไป กรมยังเตรียมเชิญโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 70 ราย ที่คิดค่ายา และค่ารักษาพยาบาลสูงเกินจริงมาสอบถามข้อเท็จจริง เพราะจากการวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนราคายา เวชภัณฑ์ และบริการ ทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลส่งมาให้กรมในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว พบว่ายาบางชนิด โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งมีส่วนต่างของราคาซื้อและขายสูงถึง 29.33-8,766.79% และมีกำไรตั้งแต่ 47.73-16,566.67% เช่น ยารักษามะเร็งบางชนิด ปริมาณยา 1 โดส มีราคา 200,000 บาท แต่โรงพยาบาลคิดราคาจากผู้ป่วย 800,000 บาท หรือยาพาราเซตามอล เม็ดละ 5 บาท โรงพยาบาลคิดสูงถึงเม็ดละ 200 บาท หากโรงพยาบาลชี้แจงเหตุผลไม่ได้ จะมีโทษตามมาตรา 29

นายวิชัย กล่าวอีกว่า หลังจากที่กรมได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชนไปแล้ว ต่อไป กรมจะดูแลค่ายา และค่ารักษาพยาบาลของคลินิกเอกชน และโรงพยาบาลสัตว์ เพราะผู้บริโภค หลายรายได้ร้องเรียนว่าคิดค่ายา และค่ารักษาสูงเช่นกัน อีกทั้งยังไม่ปิดป้ายแสดงราคาให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจน โดยเฉพาะสถานรักษาพยาบาลสัตว์

“ตอนนี้ คงต้องรอการดูแลค่ารักษาพยาบาลและค่ายาแพงของโรงพยาบาลเอกชนเสร็จสิ้นและเป็นรูปธรรมก่อน จากนั้นก็จะพิจารณาคลินิก และโรงพยาบาลรักษาสัตว์ต่อไป เพราะปัจจุบันมีเปิดกิจการจำนวนมาก ซึ่งกรมต้องจัดการต่อไป เพื่อ คุ้มครองไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้บริโภคจำนวนมากได้แสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ว่า ค่ารักษาพยาบาลสัตว์เลี้ยงแพงมาก เช่น ค่าทำหมัน 7,000-8,000 บาท ค่าผ่าตัด 10,000-20,000 บาท ขณะที่โรงพยาบาลสัตว์ของรัฐ คิดที่ 4,000-5,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีค่าฝากต่อวัน 1,200-1,500 บาท เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ