กสอ.ติดจรวด SMEs ไทยพุ่งแรง ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพ เห็นผลจริง พร้อมเดินหน้าครึ่งปี 62 ผลักดัน SMEs 600 กิจการ ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเต็มสูบ เตรียมความพร้อมรองรับเข้าสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 หวังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 พันล้านบาท
เมื่อวันที่ 14 พ.ค.62 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถปรับตัวให้เข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ได้อย่างรวดเร็วก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นเอสเอ็มอี 4.0 (Smart SMEs) ผ่านเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา กสอ.ได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ Connected Industries จัดกิจกรรม "3-Stage Rocket Approach" หรือ "จรวด 3 ขั้น โดยนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Internet of Things (IoT) Artificial Intelligence (AI) และ Big Data มาปรับใช้ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอี สู่อุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่
1. Visualize Machine คือ การรวบรวมข้อมูลจากเครื่องจักรให้เป็นดิจิทัล และนำมาใช้วิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต 2.Visualize Craftsmanship คือ การเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวของแรงงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวิเคราะห์การทำงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และ 3.Lean Automation System Integrator : หรือ LASI Project คือ การพัฒนา โครงการสาธิตการผลิตแบบลีนออโตเมชั่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ตลอดทั้งการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมทั้งระบบ ด้วยการเชื่อมต่อบริษัทอุตสาหกรรมทั้งระบบ ทั้งข้อมูล บุคลากร และเครื่องจักรระหว่างบริษัทและเอสเอ็มอี เข้าด้วยกัน
"สำหรับในปี 2561 ที่ผ่านมา กสอ.นำร่องได้ติดตั้ง 3-Stage Rocket Approach ให้กับเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมตามเกณฑ์การคัดเลือกจรวดขั้นที่ 1 และ 2 ไปแล้ว จำนวน 600 กิจการทั่วประเทศ โดยพบว่าในขั้นที่ 1 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 850 ล้านบาท และขั้นที่ 2 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2562 นี้ กสอ.ได้เตรียมแผนงานเพื่อเดินหน้าสานต่อกิจกรรม "3-Stage Rocket Approach" หรือ "จรวด 3 ขั้น โดยการรับสมัครเอสเอ็มอีภาคการผลิตทั่วประเทศ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่จรวดขั้นที่ 1 และ 2 จำนวนไม่น้อยกว่า 500 กิจการ และจรวดขั้นที่ 3 อีกไม่น้อยกว่า 100 กิจการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 45 และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 30 และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,000 ล้านบาท" นายกอบชัย กล่าว
ด้าน นายชัยศักดิ์ วรวิริยะประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ช้างทอง อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือทางการเกษตร โดยมีเครื่องหยอดเมล็ดข้าวเป็นสินค้าหลัก กล่าวว่า บริษัทฯได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบบอัจฉริยะเฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการทำงานของเครื่องจักร (Machine Monitoring System) กับทาง กสอ.ทำให้บริษัทฯสามารถมองเห็นถึงปัญหาและประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรในกระบวนการผลิต ทั้งจุดแข็ง-จุดอ่อน ได้มากขึ้น และได้นําระบบเทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ (Robot Welding) มาใช้ในกระบวนการผลิตนี้ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการจับยึด และการเชื่อมอัตโนมัติที่รวดเร็วและแม่นยํา ทําให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กําหนด สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนแรงงานได้ ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางธุรกิจในปีนี้ของบริษัทฯค่อนข้างสูงขึ้น
ด้าน นายชลิต โฆษิตวัฒนาพานิชย์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท โออิชิฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตเบเกอรี่แบรนด์ โออิชิ และแบรนด์ Kit’z กล่าวว่า หลังจากบริษัทฯได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบอัจฉริยะ เฝ้าติดตามและตรวจสอบดูแลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Visualize Craftsmanship) ได้เรียนรู้ถึงการแก้ไขปัญหาที่จุดต้นเหตุ คือ การควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด แต่คุณภาพสินค้าต้องดีที่สุดจริงๆแล้ว การเปิดใจกว้างๆเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐมานำเสนอ จะสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้จริงๆ