ยอมพับฐาน 7 ช่องดิจิทัล ยื่นคืนใบอนุญาต ส.ค.ลาจอเหลือ 15

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ยอมพับฐาน 7 ช่องดิจิทัล ยื่นคืนใบอนุญาต ส.ค.ลาจอเหลือ 15

Date Time: 11 พ.ค. 2562 05:25 น.

Summary

  • ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ตัดสินใจพับฐานยุติการออกอากาศ ตบเท้าเข้าคืนใบอนุญาต “นายกฯ” ห่วงพนักงานถูกเลิกจ้าง ฝาก กสทช.ดูแล

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ทีวีดิจิทัล 7 ช่อง ตัดสินใจพับฐานยุติการออกอากาศ ตบเท้าเข้าคืนใบอนุญาต “นายกฯ” ห่วงพนักงานถูกเลิกจ้าง ฝาก กสทช.ดูแล ให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าชดเชยเป็นธรรม คาดเดือนสิงหาคม 62 ยุติการออกอากาศ ขณะที่ค่ายมือถือมาครบ ยื่นใช้สิทธิ์ผ่อนจ่ายค่าคลื่น 900 จาก 4 ปี เป็น 10 ปี แต่ขอสงวนสิทธิ์ถ้าเงื่อนไขราคาคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ไม่พอใจ ขอถอนตัวได้ ด้าน 3 บริษัทจดทะเบียนร่อนหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ คืน 3 ช่อง ช่อง 19 สปริงนิวส์, ช่อง 14 เอ็มคอท แฟมิลี่, ช่องสปริง 26

หลังจากมีกระแสข่าวการให้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ ภายหลังที่ คสช.มีคำสั่งใช้ ม.44 เข้ามาช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรอดตายและ คนแวดวงสื่อสารมวลชนเฝ้าลุ้นระทึกมาหลายวัน ว่าจะมีทีวีดิจิทัลช่องใดบ้างที่ยอมพับฐาน ตัดสินใจยุติการออกอากาศนั้น ได้มีการประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการยื่นเอกสารการใช้สิทธิ์ตามคำสั่ง คสช. กรณีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องการคืนใบอนุญาตและผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องการขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 ปี เป็น 10 ปี

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดแถลงข่าวผลสรุปการยื่นขอใช้สิทธิ์ของผู้ประกอบการทีวิดิจิทัลและผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง ประกอบด้วย 1.ช่อง 14 (บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 2.ช่อง 3 แฟมิลี่ (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด) 3.ช่อง 28 (3 เอสดี) (บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด) 4.ช่อง 19 (บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด) 5.ช่อง 20 (บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด) 6.ช่อง 21 (บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด) 7.ช่อง 26 (บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด) โดยทีวีดิจิทัล จากเดิมมี 24 ช่อง ก่อนหน้านี้ได้เพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว 2 ใบ คือบริษัท ไทยทีวี จำกัด ที่มีเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล หรือ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เป็นเจ้าของ วันนี้ขอคืนใบอนุญาตอีก 7 ช่อง จะส่งผลให้มีช่องทีวีดิจิทัล ที่ประกอบธุรกิจต่อไปมีจำนวนเหลือเพียง 15 ช่อง

นายฐากรกล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและเป็นห่วงมาก ตั้งแต่ก่อนประกาศ ม.44 ว่า ฝากให้ กสทช.นำประเด็นเรื่องพนักงานถูกเลิกจ้าง หลังจากทีวี ดิจิทัลคืนใบอนุญาต ไปประกอบการพิจารณาการจ่ายเงินชดเชยให้ทีวีดิจิทัลด้วย ขอให้ดูแลลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ดี นอกจากที่บริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแล้ว

นายฐากรกล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนต่อไป ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง จะต้องส่งเอกสารหลักฐานการเงินให้ กสทช.พิจารณา รวมถึงแผนการยุติการออกอากาศมาให้ กสทช.พิจารณาด้วย คาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 60 วัน หลังจากนั้นจะเสนอบอร์ด กสทช.พิจารณาอนุมัติแผนการยุติการออกอากาศ เมื่อบอร์ด กสทช.อนุมัติแล้ว ทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง จะต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบว่านับจากนี้อีก 30 วันจะยุติการออกอากาศ คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะยุติการออกอากาศทั้ง 7 ช่อง ราวเดือน ส.ค.2562

เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงฯ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้มายื่นหนังสือเพื่อขอใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก 4 ปี เป็น 10 ปี ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด ถึงแม้การยื่นหนังสือใช้สิทธิ์ครั้งนี้จะขอสงวนสิทธิ์ไว้ก่อน เนื่องจากรอดูหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ กสทช.จะจัดสรรให้ในวันที่ 19 มิ.ย.2562 หากไม่พอใจราคาที่ กสทช.จัดสรรก็ขอถอนตัวจากการรับสิทธิ์ขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นได้

“ผมมั่นใจว่าทั้ง 3 ค่ายมือถือจะรับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นโอกาสของค่ายมือถือ ที่จะได้คลื่นความถี่ไปให้บริการประชาชน และยังได้รับสิทธิ์ผ่อนชำระ 10 ปีด้วย การจัดสรรครั้งนี้ กสทช.จะได้เงินราว 75,000-81,000 ล้านบาท ทำให้ กสทช.จะมีเงินนำไปจ่ายชดเชยเยียวยาคืนเงินให้กับทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต และสนับสนุนค่าใช้จ่ายโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux)

สำหรับทีวีดิจิทัลที่เหลืออีก 15 ช่องตลอดระยะเวลาใบอนุญาต” นายฐากรกล่าวและว่า สำหรับวงเงินที่ กสทช.คาดว่าจะใช้ในการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลครั้งนี้ประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่าย Mux ตลอดอายุใบอนุญาตราว 18,000 ล้านบาท จากเดิมจำนวน 22 ช่อง แต่เมื่อจำนวนช่องทีวีเหลือ 15 ช่อง วงเงินที่จะจ่ายค่าเช่า Mux ก็ต้องลดลงตามไปด้วย และไม่ต้องจ่ายค่าประมูลงวดที่ 5 และ 6 วงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท รวมทั้งเงินชดเชยให้กับช่องที่คืนใบอนุญาตที่คาดการณ์ไว้ราว 4,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล กำหนดสูตรการคืนเงินให้กับทีวีดิจิทัลว่า เงินที่ทีวีดิจิทัลได้ชำระมาแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลือ (9.5 ปี) หารด้วยอายุใบอนุญาต (15 ปี) นำมาคำนวณเบื้องต้นพบว่า 1.ช่อง 3 แฟมิลี่ ได้เงินคืน 241 ล้านบาท 2.ช่อง 19 สปริงนิวส์ ได้เงินคืน 520 ล้านบาท 3.ช่อง 20 ไบรท์ทีวี ได้เงินคืน 494 ล้านบาท 4.ช่อง 21 วอยซ์ ทีวี ได้เงินคืน 516 ล้านบาท 5.ช่อง 14 อสมท วงเงิน 231 ล้านบาท 6.ช่อง 28 (ช่อง 3 เอสดี) วงเงิน 941 ล้านบาท 7.ช่อง 26 สปริง 877 ล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้นประมาณ 3,820 ล้านบาท

สำหรับทีวีดิจิทัลทั้งหมดมี 24 ช่อง เปิดให้เอกชนที่สนใจรับเอกสารการประมูล เมื่อวันที่ 28-29 ต.ค.2556 แบ่งเป็นกลุ่มรายการเด็กและเยาวชน 3 ช่อง มีผู้มารับเอกสารการประมูล 6 ราย กลุ่มรายการข่าวและสาระ 7 ช่อง มีผู้มีรับเอกสาร 10 ราย กลุ่มรายการวาไรตี้แบบความคมชัดมาตรฐานปกติ (เอสดี) 7 ช่อง มีผู้มารับเอกสาร 16 ราย กลุ่มรายการวาไรตี้ แบบความคมชัดมาตรฐานสูง (เอชดี) จำนวน 7 ช่อง มีผู้รับมารับเอกสาร 9 ราย และเมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค.2556 ได้เปิดประมูลและได้ผู้ชนะประมูลทั้ง 24 ช่อง รวมราคา 50,862 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อเดือน เม.ย.2557 ทีวีดิจิทัลทั้ง 24 ช่องได้ทดลองออกอากาศครั้งแรกและเดือน พ.ค. 2557 เป็นการออกอากาศอย่างเป็นทางการ ต่อมา บริษัท ไทยทีวี จำกัด ไม่สามารถจ่ายค่างวดการประมูลได้ จำนวน 2 ช่อง จนถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2558 ถึงปัจจุบันนี้ ทีวีดิจิทัลได้ออกอากาศมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี

ส่วนความคืบหน้าการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล พบว่าขณะนี้มีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทยอยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว 3 ช่อง ประกอบด้วย บมจ.นิวส์เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น คืนใบอนุญาตช่อง 19 สปริงนิวส์ ของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จํากัด เป็นบริษัทย่อย บมจ.อสมท คืนใบอนุญาต หมวดหมู่รายการสำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัว ช่อง 14 เอ็มคอท แฟมิลี่ และ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป คืนใบอนุญาตช่องสปริง 26 หรือเดิมชื่อช่องนาว 26
นางสาวธนพร ทวีพาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขานุการ บมจ.อสมท กล่าวว่า การคืนใบอนุญาตฯ ดังกล่าว นอกจากจะทำให้บริษัทได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว ยังไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวด ที่ 6 ด้วย โดยยืนยันว่าบริษัทยังคงมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุน ส่งเสริม เด็ก เยาวชน สังคมและครอบครัวตามภารกิจผ่านช่องทางการสื่อสารทุกช่องทางของ บมจ.อสมท

นายสมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมีแผน ที่จะนำเงินค่าชดเชยดังกล่าวไปชำระเจ้าหนี้ค่าโครงข่ายค้างจ่าย เจ้าหนี้การค้า ลดภาระหนี้สินระยะสั้น หนี้สินระยะยาวที่มีหลักประกันกับสถาบันการเงินของบริษัท เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีภาระหนี้สินกับทางสถาบันการเงินและเงินกู้ยืมระยะสั้นรวม 918 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ลดภาระดอกเบี้ยที่สูงอันเกิดจากภาระหนี้สินดังกล่าว และอาจนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในธุรกิจหลักที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ มากขึ้นและเร็วขึ้น

ด้านนายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า การคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้ บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลของบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยให้แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 949.70 ล้านบาท ปัจจุบันใบอนุญาตฯ คงเหลืออายุอีก 9 ปี 10 เดือน หรือจะหมดอายุในวันที่ 24 เม.ย.72

ขณะที่นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด เปิดเผยว่า หลังคืนใบอนุญาตจะยังคงดำเนินงานต่อ แต่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งในเว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรมและทวิตเตอร์ โดยตามแผนดำเนินงานที่กำหนดไว้ วอยซ์ทีวี 21 จะออกอากาศผ่านระบบดิจิทัลจนถึงวันที่ 31 ก.ค. ในระหว่างวันที่ 1-31 ก.ค.จะออกอากาศคู่ขนานผ่านระบบดิจิทัล ดาวเทียมและแพลตฟอร์มออนไลน์หลัก คือเฟซบุ๊กและยูทูบ

ส่วนนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) อสมท มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ให้ อสมท แจ้งความประสงค์ในการคืนใบอนุญาตฯ ช่อง 14 MCOT Family ไปยังสำนักงาน กสทช. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับบริษัทและผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนสำหรับช่อง 9 MCOT HD ยังจะเดินหน้าต่อและมีเป้าหมายกลับมาติดช่องยอดนิยม 1 ใน 10 อีกครั้ง

ในส่วนบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่อง 3 ออกแถลงการณ์ระบุ ด้วยการแข่งขันที่สูงในธุรกิจทีวีดิจิทัล จากจำนวนช่องที่มากเกินไป ในขณะที่เม็ดเงินโฆษณาหดตัวลง ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชมที่หันไปรับชมรายการต่างๆบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนมากต้องแบกรับปัญหาขาดทุน ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายตัดสินใจคืนใบอนุญาตในที่สุด โดยช่อง 3 นั้นได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาตของช่อง 13 และ 28 หลังจากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่ในการผลิตรายการที่ดีสำหรับผู้ชม แต่หลังจากนี้ก็จะมุ่งมั่นและโฟกัสพัฒนาช่อง 3 และช่อง 33 ต่อไป

ด้านนายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้ยื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อแสดงความสนใจขอรับสิทธิ์ขยายระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ส่วนการเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์นั้น เห็นว่าควรจะเลื่อนการจัดสรรออกไปจนกว่า กสทช. จะจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ที่ชัดเจน รวมทั้งต้องศึกษาเงื่อนไขการเข้ารับการจัดสรรคลื่นอีกครั้ง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ