เป็นประจำทุกปี ที่ฟอร์บส์ (Forbes) นิตยสารชื่อดังทางด้านธุรกิจและการเงินในสหรัฐอเมริกา กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) จะมีรายงานการจัดอันดับมหาเศรษฐี หรือบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก และมหาเศรษฐีของแต่ละประเทศ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สื่อทั้งสองสำนักได้เปิดเผยรายชื่อมหาเศรษฐีซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลกและในไทย ประจำปี 2562 ปรากฏว่า ปีนี้ยังคงมีมหาเศรษฐีไทยรวยติดอันดับมหาเศรษฐีโลกเช่นเคย
ฟอร์บส์รายงานว่า ตำแหน่งมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกประจำปี 2019 ยังคงได้แก่ นายเจฟ เบซอส ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน ดอท คอม เจ้าของธุรกิจเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินถึง 131,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาทโดยเบซอสมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 19,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราวๆ 600,000 ล้านบาท
อันดับ 2 คือ บิล เกตส์ เจ้าของ Microsoft มีมูลค่าทรัพย์สิน 9.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 3 คือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของ Berkshire Hathaway มีมูลค่าทรัพย์สิน 8.48 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 4 ได้แก่ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่ง LVMH มีมูลค่าทรัพย์สิน 7.87 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ส่วนอันดับ 5 ยังคงเป็นของหนุ่ม มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าพ่อ Facebook ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 6.50 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2.03 ล้านล้านบาท
ส่วนมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอันดับ 1 ของไทย “ฟอร์บส์” รายงานว่า คือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งติด อันดับที่ 75 ของมหาเศรษฐีโลก ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 15,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 484,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9,543 ล้านบาท
ตามมาด้วยอันดับ 2 นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีทรัพย์สินมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 461,974 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 3,400 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ปีนี้เขายังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 2 ของไทย และรั้งตำแหน่งมหาเศรษฐี อันดับที่ 87 ของโลกเอาไว้ได้
ส่วนที่ขึ้นแท่นมาแรงแซงหลายโค้งขึ้นมารั้งตำแหน่งมหาเศรษฐี เบอร์ 3 ของไทย คือ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ในฐานะประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มีทรัพย์สินมูลค่ารวม 5,900 ล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 187,975 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐีอันดับที่ 290 ของโลก
นายอัยยวัฒน์เข้ามาติดอันดับเศรษฐีโลก จากการจัดอันดับของ “ฟอร์บส์” เป็นครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับช่วงธุรกิจทั้งหมดต่อจากนายวิชัย ศรีวัฒนประภา ผู้เป็นบิดา ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เมื่อปลายปีที่แล้ว
อันดับ 4 นายสุเมธ เจียรวนนท์ ประธานที่ปรึกษา เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 143,371 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 300 ล้านเหรียญฯ หรือราว 9,543 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเศรษฐีโลก อันดับที่ 424
อันดับ 5 นายจรัญ เจียรวนนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 140,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9,543 ล้านบาท ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเศรษฐีโลก อันดับที่ 436
จะเห็นว่า ท็อปไฟว์ หรือ 5 อันดับแรกของมหาเศรษฐีเมืองไทย มีรายชื่อคนในตระกูล “เจียรวนนท์” อยู่ถึงสาม คิดกันเล่นๆ ถ้านำทรัพย์สินของทั้ง 3 คนมารวมกัน อาจจะครองตำแหน่งมหาเศรษฐี เบอร์ 1 ของอาเซียนไปเลยหรือไม่
แต่ช้าก่อน เศรษฐีอันดับ 6 ของเมืองไทย ยังมีชื่อ นายมนตรี เจียรวนนท์ ประธานที่ปรึกษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งเป็นอีกรายชื่อของคนในตระกูล “เจียรวนนท์” ที่มีมูลค่าทรัพย์สินถึง 4,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 300 ล้านดอลลาร์ฯ เท่ากันกับนายจรัญ จึงต้องจำใจรับตำแหน่งมหาเศรษฐี อันดับที่ 436 ของโลก ไปอย่างช่วยไม่ได้!
ส่วนมหาเศรษฐี อันดับ 7 ของไทยปีนี้ ได้แก่ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี กรรมการและซีอีโอของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF บริษัทซึ่งทำธุรกิจด้านผลิตกระแสไฟฟ้า และพลังงานทดแทน มีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 800 ล้านดอลลาร์ฯ จึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นเศรษฐี อันดับที่ 436 ของโลกอีกคน ในระนาบเดียวกับนายจรัญและนายมนตรี
มหาเศรษฐีเบอร์ 8 ของไทย คือ นายวานิช ไชยวรรณ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าทรัพย์สินราวๆ 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 105,006 ล้านบาท เท่ากับเมื่อปีที่แล้ว ไม่เพิ่ม ไม่ลด จึงได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐีโลก อันดับที่ 667
มหาเศรษฐีเบอร์ 9 ของไทย คือ นพ.ปราเสริฐ ประสาททองโอสถ อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการอำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) และเจ้าของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3,300 ยูเอสดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นเศรษฐีอันดับ 667 ของโลก
ส่วนมหาเศรษฐีหมายเลข 10 ของไทย คือ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 2,500 ล้านยูเอสดอลลาร์ ได้รับการขานชื่อให้เป็นเศรษฐีอันดับที่ 916 ของโลก
แหล่งข่าวผู้หนึ่งบอกว่า พิจารณาคร่าวๆจากผลประกอบการทางธุรกิจ สัดส่วนการถือครองหุ้นและเม็ดเงินที่เสียภาษี ในส่วนซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนของบรรดามหาเศรษฐีแต่ละคนแล้ว จะเห็นภาพคร่าวๆได้ว่า ธุรกิจที่ยังคงรุ่ง หรือทำเงินให้แก่เศรษฐีเหล่านี้
คือ ธุรกิจเว็บไซต์ขายของออนไลน์ ธุรกิจด้านอาหารและการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าปลอดภาษี การผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน ประกันชีวิต โรงพยาบาล การผลิตและจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล รวมทั้ง ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น
สาเหตุที่ธุรกิจเกี่ยวกับเว็บไซต์ขายของออนไลน์ อย่าง แอมะซอน ดอท คอม, ช้อปปี้ และ ลาซาด้า ติดอยู่ในโผธุรกิจดาวรุ่งอันดับต้นๆ เป็นเพราะมีช่องทางการจำหน่ายจำนวนมาก แต่ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องมีหน้าร้าน ก็สามารถซื้อขายสินค้าได้ตลอด 24 ชม. ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการความสะดวก แถมยังมีนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ
ส่วนเจ้าของธุรกิจที่ทยอยหายไปจากทำเนียบมหาเศรษฐีของไทยและสังคมโลก แหล่งข่าวบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ และสื่อสารมวลชน
“ในโลกนี้มีอยู่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เจ็บตัว เพราะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง กับฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เมื่อใดที่ผลกระทบเชิงลบมาถึง ให้คิดว่าพายุมีไว้ฝ่า ปัญหามีไว้แก้ ไม่สำคัญว่าใครหรืออะไรที่ทำให้เราเจ็บ สำคัญตรงให้รีบมองหาว่า อะไรที่ทำให้เรายิ้มได้อีกครั้ง” แหล่งข่าวตบท้าย.