นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ว่าที่ประชุม กมอ. เห็นชอบให้ สมอ.ไปดำเนินการออกประกาศ เพื่อกำหนดเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ประเภทบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์เต้าเสียบและเต้ารับ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ปลั๊กไฟ จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเลขที่ มอก.166-2549 หรือมาตรฐานบังคับ ให้มีรูปแบบเป็นมาตรฐาน เดียวกัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนจากปัจจุบันเต้าเสียบเต้ารับเป็นกลุ่มประเภท มอก.ทั่วไป เนื่องจากเต้าเสียบและเต้ารับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนใช้งานทุกบ้าน จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายหากใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน เช่น การใช้เต้าเสียบของเครื่องใช้ไฟฟ้า หากเสียบเข้ากับเต้ารับแล้วมีอาการหลวมหรือไม่แน่น จะทำให้เกิดประกายไฟและเกิดความร้อนสะสมขึ้นได้ เป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพของเต้าเสียบและเต้ารับให้มีคุณภาพสูงขึ้น
นายวันชัยกล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การทดสอบที่ สมอ.จะออกประกาศให้ผู้ผลิตผู้นำเข้า ต้องปฏิบัติตาม มอก.ดังกล่าว คือ เต้ารับ เต้าเสียบ ต้องมีรูเสียบและรับที่สมดุลกัน ไม่แน่น ไม่หลวมเกินไป ต้องมีฉนวนกันไฟฟ้าที่โคนขาเต้าเสียบ, พลาสติกที่หุ้มเต้าเสียบ เต้ารับ ต้องได้มาตรฐานทนไฟไหม้ และ ขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องทำประชาพิจารณ์ หากมีผู้คัดค้านต้องนำประเด็นที่คัดค้านมาพิจารณา แต่หากไม่มีผู้คัดค้าน ขั้นตอนต่อไปจะยกร่างพระราชกฤษฎีกาเสนอเข้า ครม.และเสนอตามขั้นตอน ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้ หากประกาศ มอก.ในเรื่องนี้มีผลบังคับตามกฎหมาย ผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า ต้องผลิตและนำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานเท่านั้น ซึ่งการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคควรศึกษาคู่มือวิธีการใช้งานและข้อควรระวังโดยละเอียด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยการใช้งานเต้าเสียบและเต้ารับที่ปลอดภัย มีข้อควรปฏิบัติง่ายๆ คือ ไม่ควรเสียบเต้าเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากๆ พร้อมกันหลายเครื่อง เพื่อลดโอกาสการเกิดความร้อนสะสมที่เป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ “หากจำเป็นต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลายเครื่อง ควรมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟเกินหรือที่เรียกว่าเซอร์กิตเบรกเกอร์ ซึ่งมีหน้าที่ตัดกระแสไฟฟ้าเมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป ติดตั้งในระบบไฟฟ้าของที่อยู่อาศัยด้วย และที่อยู่อาศัยต้องมีระบบสายดินเพื่อป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว”.