พิษการเมือง-ตั้งรัฐบาลล่าช้า ธปท.-ธนาคารโลกลดเป้าเติบโตเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

พิษการเมือง-ตั้งรัฐบาลล่าช้า ธปท.-ธนาคารโลกลดเป้าเติบโตเศรษฐกิจไทย

Date Time: 25 เม.ย. 2562 08:35 น.

Summary

  • ธปท.-ธนาคารโลก เห็นตรงกันการเมือง-การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ-ความเชื่อมั่นนักลงทุน ล่าสุด ธนาคารโลก ลดเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปีนี้เหลือ 3.8% จับตาโลกยังระส่ำ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ธปท.-ธนาคารโลก เห็นตรงกันการเมือง-การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า เสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ-ความเชื่อมั่นนักลงทุน ล่าสุด ธนาคารโลก ลดเป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ปีนี้เหลือ 3.8% จับตาโลกยังระส่ำ อาจทำให้ตลอดทั้งปีนี้ส่งออกไทยโตไม่ถึง 3%

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยในงาน “รายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก” ฉบับล่าสุดเดือน เม.ย.ว่า ธนาคารโลกได้ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ปีนี้ลงเหลือ 3.8% จากคาดการณ์เดิมเดือน ต.ค.2561 ที่จะอยู่ที่ 3.9% ส่วนปีหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.9% โดยการส่งออกปีนี้ว่าจะขยายตัว 5.7% และปีหน้าขยายตัว 5.5% โดยภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามการค้า รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.7% จากคาดว่าจะเติบโต 2.9% ในครั้งที่ผ่านมา ขณะที่พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะต่ำกว่าประเทศในอาเซียนทุกประเทศ ที่เฉลี่ยโต 4-5% แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมา มีการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน เข้ามาทดแทนการลดลงของภาคการส่งออก ได้ในระดับหนึ่ง ธนาคารโลกคาดว่าปีนี้ การใช้จ่ายภาครัฐจะขยายตัว 4.6% ภาคเอกชนจะขยายตัว 4.3% ขณะที่การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ก็ช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจถดถอยลง คาดว่าปีนี้การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% ภาคเอกชนขยายตัว 4.3%

“เดือน ก.ค.นี้ เราจะทบทวนประมาณการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยอีกครั้ง โดยปัจจัยการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากล่าช้าออกไปกว่าที่มีการคาดหมาย ไว้มี ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยจะส่งผลกระทบให้เกิดความล่าช้า ของการลงทุนภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง และกระทบต่อความเชื่อมั่น ในการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ”

นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้การคาดหมาย การขยายตัวในระยะต่อไปของไทยเกิดขึ้นได้ คือเร่งดำเนินการให้ได้ตามแผนการลงทุน ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งโครงการที่ประมูลแล้วในปีนี้ ทำให้ในปีหน้าไม่น่าเป็นห่วง แต่อาจมีความไม่แน่นอนได้ในปี 2564 ซึ่งกรณีที่รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังมีช่องว่างที่ให้รัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงที่ยังคงรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.เห็นด้วยกับธนาคารโลก ที่ว่าสงครามการค้า มีผลกระทบให้ทุกประเทศในโลก เจ็บตัวกันทั่วหน้า และทุกประเทศรวมทั้งไทย ต้องสนใจที่จะกระตุ้นการเติบโตจากในประเทศ พยายามคิดว่าจะทำอย่างไร ให้การบริโภคเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน ตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดไตรมาสแรก พบว่า ปริมาณการค้าโลกลดลงมากกว่าที่คาดไว้ และชะลอลง กว่าการชะลอของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกไตรมาสแรกของไทยติดลบมากกว่าที่ คาดไว้ และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่ต่ำที่สุดของปี ทำให้ สถานการณ์ไตรมาส 1 อาจมีผลให้การส่งออกไตรมาส 2 ติดลบต่อเนื่อง ส่งผลให้ทั้งปีนี้ การส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งหลายๆปัจจัยดังกล่าว อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าประมาณการณ์ของ ธปท.ที่คาดไว้ที่ 3.8%ได้เช่นกัน

“ประเด็นที่มีผลกระทบชัดเจนต่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยคือ ปัญหาการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยหากล่าช้าไปถึงเดือน มิ.ย. หรือ ลากยาวไปถึงเดือน ก.ย.จึงจัดตั้งรัฐบาลได้จะกระทบต่อการใช้จ่าย การลงทุน ความเชื่อมั่นของนักลงทุน กระทบต่อตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม เพราะนักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน เพื่อรอดูความชัดเจน สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลใหม่ต้องทำคือ สานต่อการลงทุน โดยเฉพาะในอีอีซี”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ