รฟท.เผยขั้นตอนจากนี้ชงบอร์ดอีอีซี และ ครม.อนุมัติให้กลุ่มซีพีและพันธมิตร คว้าไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน หลัง “ซีพี” ยอมถอยกรูด 12 ข้อเสนอนอกทีโออาร์ “วรวุฒิ” มั่นใจลงนามในสัญญาเดือน พ.ค.62 นี้ เผยเบื้องหลังการเจรจาจบ เพราะเจบิกและซีดีบี ยอมตามเงื่อนไข
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา กับกลุ่มซีพี หรือกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร จากที่มีการเจรจายืดเยื้อมาโดยตลอด เนื่องจากทางกลุ่มซีพีไม่ยอมลดข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษ ในครั้งนี้ทางกลุ่มซีพียอมถอนข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกกรอบทีโออาร์ออกทั้งหมด 12 ข้อ และไม่มีประเด็นเพิ่มเติมที่จะนำเสนออีก หลังจากนี้ ฝ่ายกฎหมายของซีพี และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะไปเจรจาข้อปลีกย่อยและขัดเกลาถ้อยคำในสัญญา คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป
ดังนั้น จึงมั่นใจว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้ทางคณะกรรมการคัดเลือกจะมีการประชุมภายในอีกครั้ง เพื่อพิจารณาผลสรุปการเจรจา และสรุปร่างสัญญา เสนอให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณา จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามในสัญญากับซีพีได้ในเดือน พ.ค.62 นี้
สำหรับเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์ ประกอบไปด้วย ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี, ขอให้รัฐอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75%/ปี, ขอลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการลงมาเหลือ 5% ได้, ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือซีพีเนื่องจากปัจจุบันซีพีติดเรื่องเพดานเงินกู้ของ ธปท., ขอให้ รัฐบาลค้ำประกัน รฟท.ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง, ขอผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้, ขอให้รัฐบาลสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการ, ขอชำระเงินที่ดินมักกะสัน และศรีราชา เมื่อถึงจุดที่มีผลตอบแทน, หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย และห้ามรถไฟทำธุรกิจเดินรถแข่งกับเอกชน เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน นับเป็นโครงการแรกใน 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ได้ผู้ลงทุนอย่างชัดเจนแล้ว มีระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการ 224,544 ล้านบาท โดยหลังการเปิดรับข้อเสนอทางกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่มซีพี) เป็นผู้เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุด ราคา 117,227 ล้านบาท สำหรับการเจรจาของคณะกรรมการคัดเลือกได้เริ่มเจรจามาตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.62 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 4 เม.ย. 62 รวม 9 ครั้ง ในช่วง 4 เดือน
สำหรับการเจรจาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เนื่องจากในเงื่อนไขการประมูลไม่ได้เขียนไว้ว่าห้ามเจรจา จึงเป็นบทเรียนให้อีก 4 โครงการที่เหลือทางหน่วยงานเจ้าของโครงการจึงระบุไว้ชัดว่า เมื่อชนะการประมูลแล้ว ห้ามไม่ให้มีการเจรจาอีก ส่วนประเด็นเบื้องหลังของการเจรจาที่ยืดเยื้อดังกล่าว มีที่มาจากที่รัฐบาลจีนและญี่ปุ่นได้จับมือกัน ที่จะไปลงทุนในประเทศที่ 3 โดยเลือกลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทยเป็นโครงการแรก
โดยธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ แห่งญี่ปุ่น (เจบิก) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Development Bank: CDB) ได้ตกลงที่จะให้กู้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ITD), China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK), บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ซึ่งทางซีดีบีได้มอบให้เจบิกในฐานะผู้เชี่ยวชาญการปล่อยกู้ในโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ เป็นผู้นำกำหนดเงื่อนไข
ทั้งนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นคือ เจบิกได้ยื่นข้อเสนอผ่านกลุ่มซีพี ว่า ทาง รฟท.จะต้องรับประกันจำนวนผู้โดยสารที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี จนเป็นเหตุให้ซีพีมายื่นเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์กับ รฟท. แต่ภายหลังเจรจากันไม่จบ จึงมีการสืบหาสาเหตุที่แท้จริงจนพบต้นเหตุว่าเกิดจากเงื่อนไขของเจบิก จากนั้นทางการไทยจึงไปเจรจากับเจบิกโดยตรงว่าในประเทศไทยไม่สามารถให้การรับประกันในลักษณะนั้นได้ เรื่องจึงจบลงได้ โดยไม่ต้องไปพูดถึงเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกเหนือทีโออาร์อีกเลย.