ขาใหญ่! สิงห์รถบรรทุก 3 ปัจจัยชนวนเจ็บ-ตาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ขาใหญ่! สิงห์รถบรรทุก 3 ปัจจัยชนวนเจ็บ-ตาย

Date Time: 22 มี.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • บรรดารถบรรทุกสินค้าวิ่งบนท้องถนน เคยเห็นจนชินตา มีไม่น้อยบรรทุกน้ำหนักสินค้าเกินพิกัด เกิดมีวัตถุตกหล่นออกรถ หรือสภาพรถไม่พร้อม ...

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

บรรดารถบรรทุกสินค้าวิ่งบนท้องถนน เคยเห็นจนชินตา

มีไม่น้อยบรรทุกน้ำหนักสินค้าเกินพิกัด เกิดมีวัตถุตกหล่นออกรถ หรือสภาพรถไม่พร้อม สร้างความหวาดเสียวให้ผู้ร่วมใช้ถนน

ยิ่งประเทศไทยเปิดแข่งขันระบบ “โลจิสติกส์” ปรับปรุงโครงสร้างเครือข่ายทางถนน รองรับขนส่งสินค้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้สะดวกต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าทางบก ทำให้การขยายตัว และปริมาณบรรทุกขนส่งสินค้าทางบกมากขึ้นเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนน...

ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ การสูญเสียทรัพย์สิน ตัวพนักงาน และบริษัท ที่สำคัญรถบรรทุกยังเคยเกิดเหตุชนรถคันอื่น ชนกับรถโดยสารส่วนบุคคล หรือชนรถจักรยานยนต์ ทำให้บุคคล “ไม่รู้อีโหน่...อีเหน่” เสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมายนักต่อนัก

ในปี 2561 กรมการขนส่งทางบก มีข้อมูลอุบัติเหตุจากรถบรรทุก 869 ครั้ง ต้นเหตุสันนิษฐานเกิดจากรถบรรทุก 543 ครั้ง เกิดจากรถคู่กรณี 326 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 541 ราย และบาดเจ็บ 1,355 ราย เกิดอุบัติเหตุในช่วงกลางวัน 341 ครั้ง และช่วงเวลากลางคืน 529 ครั้ง จังหวัดเกิดบ่อย คือ นครราชสีมา สมุทรสาคร ชลบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา

สาเหตุเกิดอุบัติเหตุ “คน ยานพาหนะ ถนน” พฤติกรรมของผู้ขับรถ 123 ครั้ง ขับรถเร็ว 116 ครั้ง และหลับใน 111 ครั้ง ส่วนมูลเหตุจากพฤติกรรมของผู้ขับรถ 603 ครั้ง มูลเหตุจากยานพาหนะ 67 ครั้ง มูลเหตุจากถนน และสิ่งแวดล้อม 68 ครั้ง และอื่นๆ 132 ครั้ง แม้มีกฎหมายจราจรบังคับเข้มงวด แต่เหมือนว่า “กฎมีไว้แหก” ทุกอย่างมีช่องโหว่ให้ใช้ “ซิกแซ็ก” มุ่งแข่งขันกันทางธุรกิจ กลายเป็นกฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ บางคนไม่เคารพ

ธิบดี หาญประเสริฐ กรรมการสาขาวิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า รถบรรทุกจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก มีอยู่ 1 ล้านคัน และรถบัสโดยสาร 1 แสนคัน ในจำนวนนี้สาเหตุเกิดอุบัติเหตุ เพราะ “พฤติกรรมคนขับ” ไม่เข้าใจทักษะขับรถบรรทุกอย่างถูกต้อง

เริ่มขับรถจากครอบครัวสอนกันเอง หรือเพื่อนเป็นผู้สอนขับแบบไม่ถูกวิธี เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรุนแรง ไม่รู้หลักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีเหตุฉุกเฉิน เช่น ขับรถลงภูเขาสูงทางลาดชัน ไม่รู้วิธีใช้เกียร์ต่ำช่วยชะลอหยุดรถ กลับมีความเชื่อปล่อยรถไหล “แตะเลียเบรกไปเรื่อยๆ” ทำให้รถบรรทุกเบรกลมหมด หรือล้อรถร้อนสูง “เกิดเบรกแตก” นำไปสู่หายนะ ส่วนกลไกคัดเลือกคนขับรถบรรทุกหายากมาก เพราะเป็นอาชีพแรงงานเชี่ยวชาญเฉพาะ

“คนไทยไม่นิยม” มองว่า เป็นอาชีพต่ำต้อย สวัสดิการน้อย คนขับรถบรรทุกถูกดึงมาจากกลุ่มคนติดเหล้า หรือคนเคยติดยาเสพติดเข้ามาผสมกับคนขับรถบรรทุกมืออาชีพ เมื่อคนขับรถบรรทุกน้อย บริษัทธุรกิจเกี่ยวกับด้านขนส่งสินค้าไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องง้อคนขับ กลายเป็น “จุดอ่อน” กระบวนการความปลอดภัยของสังคม...มีผลถึงสภาพร่างกายคนขับไม่พร้อม ทำงานนานเกิน 8 ชม.เกิดการพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนล้า

แม้คนขับป่วย แต่ผู้ประกอบกิจการจำเป็นต้องบังคับขับรถ เพราะมองเรื่องของรายได้มากกว่าความปลอดภัยของคนขับรถ หรือบนท้องถนน...

ต่างจากในประเทศสหรัฐอเมริกา เคยศึกษาคนขับรถบรรทุกถือว่าเป็นอาชีพมีเกียรติ ต้องผ่านการอบรมความปลอดภัย ก่อนจะมาสอบใบอนุญาตขับรถบรรทุกที่ได้มาอย่างยากเย็นที่สุด เริ่มเงินเดือนสูงกว่าพนักงานบริษัท 2-3 เท่า มีรายได้เลี้ยงครอบครัวแบบสบาย “คนขับรักผูกพัน” ในอาชีพขับรถบรรทุก เพราะหากรถเกิดอุบัติเหตุ มีผลต่อรายได้เลี้ยงครอบครัว ทำให้อาชีพนี้กลายเป็นอาชีพสำคัญอีกอาชีพหนึ่ง...

นอกจาก “คนขับและร่างกายที่ไม่พร้อมแล้ว” ต้องมาดูถึงเรื่อง “ตัวรถบรรทุกมีพร้อมขับขี่” หากบริษัทประกอบกิจการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ การซ่อมบำรุงรักษาตัวรถบรรทุกย่อมมีมาตรฐานดีเยี่ยม เพราะหากเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง อาจก่อให้เกิดความสูญเสียรายได้ สูญเสียโอกาสทางธุรกิจทรัพย์สิน...

แต่...ผู้ประกอบกิจการขนส่งขนาดเล็กรายย่อยทั่วไป การซ่อมบำรุง “เมื่อมีเงิน มีงาน” ตามสภาพกำลังที่พอทำได้ ประเด็นนี้เกิดจากผู้ประกอบกิจการ ไม่ได้ขับรถบรรทุกเอง แต่ความเสี่ยงกลับตกอยู่กับลูกจ้าง คนขับ ขณะที่คนขับรู้ว่าเสี่ยงก็ยอม เพื่อเงินรายได้เลี้ยงปากท้องครอบครัว รวมถึงหากพบรถเกิดมีปัญหาก็ไม่กล้าแจ้งให้เจ้าของรถแก้ไข เพราะรถจอด...คนขับก็ไม่มีรายได้

หรือมีการซ่อมแซมรถจริง แต่นิยมใช้อะไหล่ปลอม เคยลงพื้นที่ซุ่มตรวจรถบรรทุก พบใช้อะไหล่ปลอมสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ อาทิ เครื่องกรองอากาศรถบรรทุก ผ้าเบรก ลูกยางเบรก จานเบรก เพื่อลดต้นทุนการซ่อมบำรุง คุณภาพการใช้งานไม่ได้มาตรฐาน ก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุรุนแรงตามมาเช่นกัน

ต่างจากในประเทศที่เจริญแล้ว มีกฎหมายกำหนดอายุการใช้งานของรถบรรทุกไว้ 10-15 ปี แต่ในประเทศไทยไม่มีข้อกำหนดไว้ในกฎหมาย ทำให้เห็นรถบรรทุกมีอายุ 30–40 ปี ออกวิ่งอยู่ในท้องถนนเกลื่อนเต็มไปหมด เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลัวถูกสังคมกล่าวหาว่า “รังแกคนจน” เปิดให้เฉพาะรถใหม่วิ่งบรรทุกส่งสินค้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผลิตรถยนต์ หรือเอื้อให้กับนายทุนผู้ประกอบกิจการขนส่งสินค้ารายใหญ่

สังคมกลับไม่มองถึงคุณภาพชีวิตความปลอดภัย...

ยกตัวอย่าง...ช่วงก่อนหน้านี้พูดถึง PM 2.5 เรียกร้องให้รถยนต์เปลี่ยนใช้น้ำมันจากเดิมยูโร 4 (กำมะถัน 50 PPM) เปลี่ยนใช้น้ำมันยูโร 5 (กำมะถัน 10 PPM) แต่อุตสาหกรรมน้ำมันต้องลงทุนเพิ่ม 4-5 หมื่นล้านบาท ต้นทุนผลิตสูง คุณภาพน้ำมันดี สุดท้ายผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเติมน้ำมันสูงเท่าตัว ให้คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ลืมมองไปว่าบนท้องถนนมีรถยนต์เก่าวิ่งมากมาย และเป็นสาเหตุเกิดมลพิษทางอากาศเช่นกัน

ธิบดี ย้ำว่า ปัจจัยเกิดอุบัติเหตุยังมี “สภาพแวดล้อม ถนน มีปัญหาเส้นสะท้อนแสงช่องจราจร ทั้งสีเหลือง สีขาว สีสะท้อนแสงไม่เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด” สังเกตขับรถเวลากลางคืน หรือฝนตกหนัก จะไม่พบเส้นจราจรสะท้อนแสง สาเหตุอาจมาจากไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าอุบัติเหตุเกิดในเส้นทางใหม่ หรือทางแยกทางตัด สาเหตุพนักงานขับรถไม่ทราบข้อมูลเส้นทาง ส่วนถนนก็ไม่มีป้ายบอกเส้นทาง...

อุบัติเหตุเกิดจาก “ถนน” มองว่าในต่างประเทศ รถบรรทุกขนสินค้าเกินน้ำหนักมากเช่นกัน แต่ไม่ทำให้ถนนชำรุด ส่วนประเทศไทย รถบรรทุกสินค้าน้ำหนักค่อนข้างต่ำ...ถนนกลับรองรับไม่ได้ เกิดการชำรุดเร็ว และมีงบประมาณซ่อมบำรุงตลอดเวลา กลายเป็นว่า “ไม่มีงบ...จะไม่มีงานทำกัน”

หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ มีการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุ เสนอแนวความคิดแก้ไขปัญหามากมาย แต่เก็บข้อมูลแบบต่างคน...ต่างเก็บ...ต่างจุดประสงค์ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจเก็บข้อมูลลงบันทึกประจำวัน โรงพยาบาล เก็บคนเข้ารักษาตัว กรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอข้อมูลจากหน่วยงานท้องถิ่น แต่ไม่มีการรวบรวมเก็บข้อมูลสาเหตุปัจจัยเกิด
อุบัติเหตุในรถบรรทุก และยังไม่มีการวิเคราะห์ตรงจุดของความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ชัดเจน

ทำให้ยากต่อแนวทางป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนของรถบรรทุก กลายเป็นว่า โยนเงินลงน้ำ แก้ไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน

ต้องเริ่มต้นโครงการจากจังหวัด นำร่องเก็บข้อมูลรถบรรทุกระดับกลางและขนาดใหญ่ รวบรวมเก็บข้อมูลแบบบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน ใช้ข้อมูลเดียว นำไปสู่กระบวนการในการเก็บข้อมูล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพ...เกิดกระบวนวิเคราะห์สาเหตุเกิดอุบัติเหตุอย่างแท้จริง และค่อยแก้ไขไปทีละจุด กำหนดมาตรการนำไปสู่การป้องกัน และลดผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกขนส่งสินค้า ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริบทขององค์กร พัฒนาระบบรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้มีความปลอดภัยต่อสังคม

โดยเฉพาะพัฒนา “คน” ต้องนำร่องอบรมขับรถบรรทุกปลอดภัย เคารพกฎหมายจราจร เพราะคนไม่เคารพกฎหมายจริงจัง ยังมีช่องโหว่ให้ คุย...ขอไม่เขียนใบสั่ง ต่างจากกล้องจับความเร็ว คุยขอ...ไม่ได้ คนขับถึงกลัวกัน

อุบัติเหตุป้องกันได้ ถ้าผู้ประกอบการธุรกิจรถบรรทุกขนส่งสินค้ามีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการดูแลคนขับ ยานพาหนะ ให้มีความพร้อมใช้งานตลอดเวลา...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ