ภัยธรรมชาติซ้ำเติมชีวิตเกษตรไทย มุมมอง "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" คนรุ่นใหม่แก้ภัยแล้ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ภัยธรรมชาติซ้ำเติมชีวิตเกษตรไทย มุมมอง "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" คนรุ่นใหม่แก้ภัยแล้ง

Date Time: 11 มี.ค. 2562 05:01 น.

Summary

  • “ภัยธรรมชาติกับเกษตรกรไทย” ถือเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น ปีไหนเกษตรกรไม่กลัว “ภัยแล้ง” ก็ต้องกังวลกับ “น้ำท่วม” ซ้ำซากสลับกันไปเช่นนี้ นอกเหนือจากสร้างความเสียหาย

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“ภัยธรรมชาติกับเกษตรกรไทย” ถือเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน และดูเหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น ปีไหนเกษตรกรไม่กลัว “ภัยแล้ง” ก็ต้องกังวลกับ “น้ำท่วม” ซ้ำซากสลับกันไปเช่นนี้ นอกเหนือจากสร้างความเสียหายและสูญเสียรายได้ให้กับภาคการเกษตรมหาศาลในแต่ละปีแล้ว ยังสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อมูลค่าเศรษฐกิจไทยโดยรวม

ปีนี้แม้เพิ่งเข้าสู่หน้าร้อน แต่หลายหน่วยงานได้พยากรณ์ในทิศทางเดียวกันว่า จะเป็นอีกปีที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับภัยแล้ง ฤดูร้อนปีนี้จะเร็วกว่าทุกปี อุณหภูมิร้อนขึ้นกว่าปี 2561 ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและน้ำในเขื่อน ขณะที่แทบทุกปีเช่นกันที่ “ทีมเศรษฐกิจ” จะรอความหวังการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจากหน่วยงานรัฐ นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาจากภาครัฐ และนักวิชาการมาหลายสิบครั้ง แต่ยังไม่คืบหน้า จึงขอเปลี่ยนมุมมองมาสัมภาษณ์ “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Smart Farmer) ที่ประสบความสำเร็จ “เกษตรกรรุ่นใหม่” ที่ลงไปปฏิบัติจริง ซึ่งน่าจะได้ความคิดเห็นที่น่าสนใจ และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น.

“ขุดสระสำรอง” ช่วยเหลือตัวเอง

สำหรับภัยแล้งในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า จากข้อมูลวันที่ 4 มี.ค.ปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลง 13.5% จากปีก่อน โดยเฉพาะภาคกลางและอีสาน ที่อาจเข้าสู่วิกฤติมากขึ้นในเดือน เม.ย.

“ข้าวและอ้อย” จะเป็นพืชที่ถูกกระทบมากที่สุด และผลจากภัยแล้งในปีนี้ที่มาเร็วและยาวนานขึ้น อาจไม่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมาก แต่จะมีผลต่อผลผลิตที่ลดลง โดยประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่ 15,300 ล้านบาท หรือ 0.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แต่หากภัยแล้งขยายวงออกไปกระทบพืชไร่ และพืชสวน รวมทั้งปศุสัตว์ มูลค่าความเสียหายก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ศิริพร
ศิริพร

ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประเมินเบื้องต้น จะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรนอกเขตชลประทาน 11 จังหวัด 26 อำเภอ 71 ตำบล พื้นที่ 151,552 ไร่ ในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี และมีพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำประปา 17 จังหวัด

ส่วนความคิดเห็นของเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นอย่างไร “น.ส.ศิริพร เอี่ยววงศ์เจริญ” สาวแกร่งจากวิทยาลัยช่างศิลป์ สาขาออกแบบและตกแต่งภายใน ที่หนีชีวิตเมืองหลวงกลับไปปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ที่ จ.พิจิตร บนพื้นที่ 20 ไร่ จนประสบความสำเร็จ ส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ “บุญมาออร์แกนิค” เป็น Smart Farmer รายแรกของเราที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การทำเกษตรสมัยใหม่ และให้ความเห็นเรื่องการบริหารจัดการของประเทศ

“ส่วนตัวมองว่าการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในภาคอีสานดีขึ้นมาก มีอ่างเก็บน้ำมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางยังมีอ่างเก็บน้ำน้อย เมื่อเปรียบเทียบกัน”

ยกตัวอย่าง ในจังหวัดพิจิตรจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือทางฝั่งแม่น้ำยม ซึ่งมักจะมีน้ำท่วมเป็นประจำ ในขณะที่ในฝั่งอำเภอสากเหล็ก จะมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำไม่ดี และแก้มลิงระบายน้ำให้เกษตรกรใช้ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของคนในพื้นที่

“เราเจอปัญหาเรื่องน้ำมากสุดในปี 2558 ซึ่งขณะนั้นมีการสร้างประตูระบายน้ำไว้เยอะ ดังนั้นใครอยู่ต้นน้ำก็จะกักน้ำไว้ในพื้นที่ของตนเองโดยขุดหน้าประตูระบายน้ำของรัฐให้ลึกขึ้น เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำให้ชาวนาที่ปลูกข้าวปลายคลอง ข้าวแห้งตายเสียหายจำนวนมาก”

ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้รัฐแก้ไขคือ ต้องการให้จัดการน้ำให้ดีกว่านี้ ขุดทางระบายน้ำให้ลึกกว่าเดิม ขยายสระให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการน้ำของคนในพื้นที่ รวมทั้งการสร้างทางสัญจรให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย เนื่องจากเกษตรกรบางคนทำการเกษตรในพื้นที่ป่า ซึ่งเดินทางลำบาก

นอกจากนี้ อยากให้สร้างอ่างเก็บน้ำ และแก้มลิงดักน้ำ ฝั่งอำเภอสากเหล็ก เพื่อป้องกันน้ำไหลหลาก เพราะส่วนมากน้ำจะไหลผ่านมาจากภูเขา หากสามารถกักเก็บน้ำเหล่านี้ได้ทั้งหมด จะทำให้มีน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ตลอดทั้งปี หมดปัญหาเรื่องภัยแล้ง

“ส่วนเกษตรกรในการรับมือกับภัยแล้ง อยากให้ขุดสระสำรองน้ำในพื้นที่ไร่ นา กักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูทำนาปรังในเดือน พ.ค.หรือกรณีฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นจะได้มีน้ำไว้ใช้ทำเกษตร เพราะบ่อบาดาลที่กรมพัฒนาที่ดินขุดให้ ต้องยอมรับว่าลึกไม่พอสำหรับเพาะปลูกข้าว และน้ำที่กักเก็บได้เพียงพอสำหรับปลูกผัก และผลไม้เท่านั้น”.

เชษฐกานต์-ขวัญชนก
เชษฐกานต์-ขวัญชนก

เกาะติดแอปฯพยากรณ์อากาศ

สำหรับ “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” รายที่สองของเรา เป็นสองสาวพี่น้องจากเชียงราย “ดร.ขวัญชนก เหล่าสุนทร และ ดร.เชษฐกานต์ เหล่าสุนทร” ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (Young Smart Farmer) หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ผ่านปัญหา “ศึกชิงน้ำ” มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ดร.ขวัญชนก ได้แบ่งปันประสบการณ์การเป็น “Smart Farmer” และมุมมองการบริหารจัดการน้ำให้ฟังว่า หลังจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และเริ่มต้นทำงานในเมืองหลวงได้ไม่นาน รู้สึกเบื่อ ประจวบเหมาะกับคุณลุง ซึ่งทำนาอยู่แล้วที่จังหวัดเชียงราย ได้ยกที่นาให้ จึงตัดสินใจร่วมกับน้องสาว ที่จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน เข้าสู่วิถีการเกษตร

โดยได้ลงมือปลูกข้าว บนพื้นที่นากว่า 50 ไร่ และพัฒนาพื้นที่นาให้กลายเป็น “แมคนีน่าฟาร์ม” ซึ่งได้รับมาตรฐานการรับรองข้าวมะลิอินทรีย์เพื่อส่งออก และได้นำสมุนไพรที่ปลูกในท้องนามาแปรรูปเป็นของใช้ สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นกอบเป็นกำ

“ส่วนเรื่องปัญหาน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้งนั้น ก่อนหน้านี้ที่เชียงรายแทบไม่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมเลย แต่เมื่อรัฐบาลได้ขยายคลอง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้มากขึ้น กลับทำให้เส้นทางที่น้ำไหลผ่านเกิดน้ำท่วม ขณะที่พื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งชลประทาน จะประสบปัญหาน้ำแล้ง เกษตรกรต้องรอคอยน้ำฝนเป็นหลัก”

นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำแล้ง มาจากคนที่อยู่ต้นน้ำมักจะกักเก็บน้ำไว้ใช้เอง ไม่มีการแบ่งปัน โดยนำสังกะสีมากั้นทางน้ำไว้ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคนท้ายน้ำที่ทำการเกษตร

“ในทุกปี ปัญหาเหล่านี้จะลุกลาม และรุนแรงมากขึ้น จนเกิดเป็น “ศึกแย่งชิงน้ำ” เมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกข้าว ซึ่งทุกไร่นาจะต้องใช้น้ำปริมาณมาก จะเกิดปัญหาลักลอบสูบน้ำในพื้นที่ของผู้อื่นตามมา ดังนั้นสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ปัญหา คือ “การสร้างจิตสำนึก” ของคนในชุมชนให้รู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น ร่วมกันแบ่งปันทรัพยากร และตระหนักถึงการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ขณะที่คำแนะนำเกษตรกร สิ่งที่ควรทำเพื่อรับมือปัญหาน้ำแล้ง คือ การเจาะบ่อบาดาลกักเก็บน้ำ การนำแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้กับระบบการให้น้ำพืช และการใช้กังหันลมผันน้ำแทนการสูบน้ำแบบเดิม เพราะถ้าใช้เครื่องสูบน้ำ นอกจากจะใช้เงินมากแล้ว การใช้น้ำมันดีเซลขับเคลื่อนเครื่องสูบน้ำ ยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ ควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เป็นประโยชน์ เช่น ตรวจสอบพยากรณ์อากาศ จะได้วางแผนบริหารจัดการน้ำของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ในช่วงที่น้ำน้อย ปลูกข้าวนาปรังไม่ได้ ก็ปรับไปปลูกสมุนไพรที่นำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยกว่าทดแทน

“ทุกวันนี้ดูแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศตลอดเวลา จนจะกลายเป็นแม่หมอแล้วค่ะ แต่ก็ต้องดูเพื่อวางแผนในการเพาะปลูก ส่วนปัญหาภัยแล้งประสบมาทุกปี และเป็นสิ่งที่เราต้องรับมือเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรมาก เพราะเตรียมขุดบ่อบาดาล และเครื่องสูบน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว”.

พิมพ์วรัตน์
พิมพ์วรัตน์

แนะรัฐเติมองค์ความรู้ให้เกษตรกร

เกษตรกรรุ่นใหม่รายสุดท้าย “น.ส.พิมพ์วรัตน์ เรืองประชา” เจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร “ไร่พิมพ์วรัตน์” ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยการบุกเบิกการปลูกพืชเมืองหนาว อย่างสตรอว์เบอร์รี และหม่อนไหม ในพื้นที่เขตร้อน จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด บนพื้นที่กว่า 36 ไร่ หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสยาม สาขาบริหารธุรกิจการบัญชี

น.ส.พิมพ์วรัตน์ได้เล่าถึงมุมมองการบริหารจัดการน้ำของประเทศไว้อย่างน่าสนใจว่า “การบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยยังแก้ปัญหาได้ไม่ดีเท่าที่ควร ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งยังเกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่ซ้ำซาก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการคำนวณบริหารน้ำที่ผิดพลาด”

ยกตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนกระเสียว เมื่อถึงฤดูฝนจะกักเก็บน้ำไว้ได้ในปริมาณมาก แต่เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในเขื่อนกลับไม่พอปล่อยให้เกษตรกรใช้ทำนาและปลูกพืช นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่ห่างจากเขื่อนออกไปเพียง 50 เมตร กลับพบปัญหา น้ำแล้ง ทั้งๆที่อยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำมากที่สุดซึ่งปัญหาเช่นนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น

“สมัยก่อน สุพรรณบุรีไม่มีปัญหาน้ำในลำคลอง และคูคลองแห้งแล้งมาก่อน แต่ตั้งแต่เริ่มมีการถอนต้นไม้ เทคอนกรีตตามสถานที่ต่างๆ ทำให้สูญเสียแหล่งที่จะดูดซับน้ำตามธรรมชาติ กลายเป็นปัญหาว่า ถ้าปีไหนมีน้ำมามาก พื้นที่การเกษตรก็เกิดน้ำท่วมหนัก ปีไหนไม่มีน้ำ ก็จะแล้งจัด”

ในขณะที่หนทางแก้ปัญหา มองว่า รัฐบาลควรเติมความรู้ให้กับเกษตรกร เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไม่มีองค์ความรู้ในการเพาะปลูก และการบริหารจัดการน้ำที่ดีเพียงพอ เมื่อถึงฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนมากมักจะใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำจากแหล่งน้ำมาใส่ที่ไร่นาของตนเอง ซึ่งสิ้นเปลืองต้นทุนจำนวนมาก หากรัฐบาลให้ความรู้เรื่องการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้กับระบบการให้น้ำพืช และจ่ายน้ำโดยใช้สปริงเกอร์ ซึ่งเป็นการใช้น้ำอย่างประหยัดน้ำแทน จะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น เกษตรกรบางรายยังไม่รู้เลยว่าพื้นที่การเกษตรของตนเองควรจะปลูกพืชอะไร ถึงจะได้ผลผลิตดีที่สุด ทำให้คนในพื้นที่ส่วนมากเน้นปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากกว่าการปลูกพืชหลากหลาย หากภาครัฐเติมความรู้ทางการเกษตรให้เกษตรกรมีความรู้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพาะปลูก ลดปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีความสุ่มเสี่ยงขาดทุนได้

เช่นเดียวกับ “Smart Farmer” ทั้งสองราย การขุดลอกสระเพื่อเตรียมเก็บกักน้ำ และการใช้เทคโนโลยีการพยากรณ์อากาศ เป็นสิ่งที่ “ไร่พิมพ์วรัตน์” นำมาใช้

“ปัจจุบันเป็นยุคที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ดิฉันจะดูพยากรณ์อากาศในแอปพลิเคชันที่มีการคาดการณ์ว่าฝนจะตกเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าใด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาเตรียมทำการเพาะปลูก ซึ่งในปีนี้ หลังจากได้รับข่าวว่าจะแห้งแล้งมากเป็นพิเศษ ได้สั่งให้ทางไร่เตรียมขุดลอกสระให้ลึกขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งให้มากที่สุดเรียบร้อยแล้ว”

********

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนจากตัวจริง เสียงจริง “Smart Farmer” ที่ผ่านทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งมาหลายฤดูกาล จนสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนภาครัฐวันนี้ หวังว่าได้เตรียมรับ “ภัยแล้ง” ไว้อย่างดี เราคงไม่อยากเห็นภาพเกษตรกรน้ำตาร่วง เสียหายจนหมดตัวเหมือนที่ผ่านมาอีก.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ