หัวเว่ยชูจุดแข็ง หากสหรัฐฯอนุญาตให้แข่งขันในตลาด จะส่งผลให้ต้นทุนลดลงได้ 15-40% ดีต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน เผยถูกบีบให้เลือกทางสุดท้าย ต้องตัดสินใจยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้มีคำสั่งยุติการแบนซื้อสินค้าและบริการของหัวเว่ย เพราะขัดรัฐธรรมนูญและจะทำให้ผู้บริโภคเสียโอกาส
เมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา คัดค้านการเห็นชอบมาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ฉบับปี 2562 (2019 National Defense Authorization Act : NDAA) โดยขอให้ศาลมีคำสั่งว่า การกีดกันที่พุ่งเป้าไปที่หัวเว่ยนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและขอให้มีคำสั่งห้ามใช้กฎหมายนี้เป็นการถาวร
ทั้งนี้ การตัดสินใจฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ สืบเนื่องมาจากการมีคำสั่งห้ามหน่วยงานของรัฐซื้ออุปกรณ์และเน็ตเวิร์กของหัวเว่ย ขณะเดียวกันสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ในการยืนยันข้อกล่าวหาดังกล่าว
นายกัว ผิง ประธานกรรมการบริหาร หมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย เปิดเผยว่า “สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ในการสร้างหลักฐานสนับสนุนคำสั่งกีดกันของสหรัฐอเมริกาต่อสินค้าหัวเว่ย เราจึงถูกบีบบังคับให้เลือกทางสุดท้าย คือดำเนินการทางกฎหมาย”
“การแบนหัวเว่ยไม่เพียงแค่ผิดหลักกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการจำกัดไม่ให้หัวเว่ยเข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคของสหรัฐฯ เสียประโยชน์ในที่สุด เราจะตั้งตารอคำตัดสินของศาล และเชื่อว่าคำตัดสินนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งหัวเว่ยและชาวอเมริกัน”
หัวเว่ยได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงสหรัฐฯ ที่เมืองพลาโน รัฐเท็กซัส โดยตามคำร้องดังกล่าว ระบุมาตรา 889 ของกฎหมายการป้องกันประเทศ ฉบับปี 2562 ไม่เพียงห้ามไม่ให้หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ ทุกหน่วยงาน ซื้ออุปกรณ์และบริการของหัวเว่ยเท่านั้น แต่ยังห้ามไม่ให้ทำสัญญาหรือให้เงินสนับสนุนหรือเงินกู้ยืมแก่บุคคลที่สาม ที่ซื้ออุปกรณ์หรือบริการของหัวเว่ย โดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดีจากศาลหรือจากผู้บริหารด้วย
การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดกฎหมายจำกัดตัดสิทธิบุคคล (Bill of Attainder Clause) และกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย (Due Process Clause) นอกจากนี้ ยังละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เพราะสภาคองเกรสกำลังทำหน้าที่ทั้งออกกฎหมายและพยายามพิจารณาตัดสินและบังคับใช้กฎหมายนี้ไปพร้อมๆกัน
หัวเว่ย ระบุ การกีดกันหัวเว่ยจะทำให้การแข่งขันในตลาดหยุดชะงักและทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเงินในราคาสูงขึ้น เพื่อผลิตภัณฑ์ที่ด้อยประสิทธิภาพกว่า โดยหากอนุญาตให้หัวเว่ยเข้าร่วมแข่งขันในตลาด จะช่วยลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานไร้สายได้ราว 15-40% ซึ่งจะช่วยให้อเมริกาประหยัดงบได้อย่างน้อย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงสี่ปีข้างหน้า.