"อาดิดาส-ไนกี้" ช่วยแก้ขยะล้นโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"อาดิดาส-ไนกี้" ช่วยแก้ขยะล้นโลก

Date Time: 4 มี.ค. 2562 07:45 น.

Summary

  • นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเสื้อผ้าของไทยได้พัฒนาศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้าด้วยการนำขวดพลาสติกเก่ามารีไซเคิลเป็นเส้นด้าย

Latest

Easy E-Receipt 2568 ลดหย่อนเท่าไร ซื้ออะไรได้บ้าง

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตเสื้อผ้าของไทยได้พัฒนาศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้าด้วยการนำขวดพลาสติกเก่ามารีไซเคิลเป็นเส้นด้าย เพื่อผลิตเสื้อผ้า รองรับความต้องการของลูกค้าแบรนด์ระดับโลก เช่น อาดิดาส, ไนกี้ และอื่นๆ อีก 30-40 แบรนด์ ที่มีนโยบายในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอาดิดาสที่ประกาศในอีก 6 ปีข้างหน้าจะใช้วัสดุรีไซเคิลมาเป็นวัตถุดิบผลิตเสื้อผ้า 100% จากปัจจุบันมีคำสั่งซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลของไทยเพิ่มขึ้นปีละ 20% ซึ่งเสื้อผ้าที่ผลิตจากขวดพลาสติกเก่าสวมใส่สบายเช่นเดียวกับผ้าใยสังเคราะห์

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตของไทยเริ่มมีปัญหาขาดแคลนขวดพลาสติกที่จะนำมารีไซเคิล ประกอบกับต้นทุนสูง เพราะขั้นตอนการคัดเลือกขวดพลาสติกในไทยทำได้ลำบาก เนื่องจากส่วนใหญ่การทิ้งขยะไม่มีการแยกที่ชัดเจนเหมือนในหลายประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตเสื้อผ้าไทยต้องนำเข้าเส้นด้ายที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจากขวดพลาสติกมาจากต่างประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยแยกขยะอย่างจริงจัง เพื่อที่จะสามารถคัดแยกก่อนที่จะส่งไปผลิตตามขั้นตอนต่างๆได้ง่ายและมีประสิทธิภาพขึ้น

ส่วนขั้นตอนการนำขวดพลาสติกใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เริ่มจากการคัดแยก แยกสี โดยขวดพลาสติกที่นิ่มเกินไปไม่สามารถนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าได้ จากนั้นส่งไปที่ศูนย์รีไซเคิล เพื่อล้างทำความสะอาดรอบแรก จะตัดขวดเป็นชิ้น หรือแผ่น หรือบดให้ละเอียด แล้วล้างอีกรอบ และทำให้แห้งสนิท จากนั้นจะนำแผ่นพลาสติกเล็กๆ มาถูกหลอมครั้งที่ 1 เพื่อยืดเป็นเส้น เสร็จแล้วนำมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ นำไปหลอมครั้งที่ 2 เพื่อทำเป็นใยผ้าขนาดเล็กเท่าเส้นด้าย ก่อนที่จะส่งต่อไปโรงงานทอผ้า

“ปัจจุบันต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าจากขวดพลาสติกจะสูงกว่าการผลิตจากใยสังเคราะห์ หรือฝ้าย โดยเฉพาะในไทยสูงมาก เพราะต้องผ่านหลาย ขั้นตอน เช่น ประชาชนทั่วไป ขายให้ซาเล้ง จากนั้นต้องมีกระบวนการคัดแยก การล้าง และไปโรงรีไซเคิล และอื่นๆ หากของไทยมีกระบวนการคัดเลือกที่ดี เชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาขยะจากขวดพลาสติกได้ ในอนาคตหากมีเทคโนโลยีดีๆ เชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตเสื้อผ้าจากขวดพลาสติกรีไซเคิลลดลงได้”

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากรมได้เชิญภาคเอกชนมาหารือถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยในปี 62 ซึ่งมีหลายประเด็นที่เอกชนได้รายงานเกี่ยวกับการทำตลาด เช่น สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ระบุว่า ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกมีนโยบายรักษ์โลกมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการนำขยะรีไซเคิลมาผลิตเสื้อผ้า ซึ่งกรมมองว่าเป็นทิศทางที่ภาคเอกชนต้องปรับตัว กรมพร้อมสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเต็มที่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ