ฝ่ายการพาณิชย์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขโครงสร้างอัตราการจัดเก็บค่าบริการน้ำหนักกระเป๋า และสัมภาระที่กำหนดจะจัดเก็บกับผู้โดยสารของสายการบินการบินไทยใหม่ จากเดิมที่เคยจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่าสายการบินคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ หรือ คาเธ่ย์ แปซิฟิก ก็ให้ปรับขึ้นอัตราไปใกล้เคียงกัน
โดยราคาที่ปรับใหม่ให้ใกล้เคียงกับสายการบินอื่นแล้ว ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-สิงคโปร์ เรียกเก็บที่ USD หรือ 12 เหรียญสหรัฐฯ/กิโลกรัม(กก.) ขณะที่ CX เก็บ USD 13/กก. และ SQ เก็บ USD 16/กก. สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ-ญี่ปุ่น เรียกเก็บที่ USD 38/กก. ส่วน CX เก็บ USD 28/กก. และ SQ เก็บ 38/กก. ในส่วนของเส้นทางบินระหว่างกรุงเทพฯ-ลอนดอน เก็บที่ USD 69/กก. โดย CX เก็บ USD 40/กก. และ SQ เก็บ USD 63/กก.
ด้านอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะในยุโรปซึ่งมีการแข่งขันกันสูง จึงจำเป็นต้องหั่นราคาในการขายต่างๆลง โดยเฉพาะการขายสินค้า-บริการที่เป็นรายได้เสริม เช่น การขายน้ำหนักส่วนเกินสำหรับผู้โดยสารที่มีการซื้อน้ำหนักเกินไว้เป็นการล่วงหน้า จะได้รับส่วนลดในทันทีที่มีการซื้อ หรือการขายน้ำหนักเป็นชิ้น เช่น ชิ้นละ 20 กิโลกรัม หรือการขายลักษณะเป็น Bulk หรือ ลังขนาดใหญ่ เช่น LH คิด USD 57/ชิ้น สำหรับเดินทางภายในยุโรป หรือ USD 173/ชิ้น สำหรับเส้นทาง Long Intercontinental หรือ Jet Airways คิดค่าน้ำหนัก online เส้นทางกรุงเทพฯ-เดลี 10 กก./5,100 บาท แต่หากเป็น 20 กก. คิด 10,195 บาท
ฝ่ายการพาณิชย์ การบินไทย ยังกำลังให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการขาย online ทำการทบทวนอัตราจัดเก็บล่วงหน้าอีกครั้ง และให้ทำราคาเหมา 50 กก. และ 100 กก. โดยให้ลดราคาลงตามสัดส่วนเหมาจ่าย ซึ่งคาดว่าอีก 2 สัปดาห์ จะได้อัตราที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น สำหรับอัตราใหม่ที่จะเรียกเก็บกับผู้โดยสาร (USD : ดอลลาร์สหรัฐ/กก.) ตามตารางข้างต้น ถ้าจองตั๋วผ่าน online สำหรับเที่ยวบินในประเทศจะได้รับลดหย่อนลง 20% จาก 100% ของผู้ซื้อตั๋วโดยสารนอกสาย (offline) ถ้าจองผ่าน call center ได้รับการลดหย่อน 15%
ส่วนอัตราที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารในเส้นทางการบินกรุงเทพฯไปในโซน 1 ซึ่งได้แก่ บังกลาเทศ เขมร จีน (คุนหมิง) ลาว มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ และเวียดนาม ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วปกติ (Offline) ต้องจ่าย 12 เหรียญ/กก. แต่ถ้าจองตั๋วผ่าน online จะจ่ายเพียง กก.ละ 6 เหรียญ และถ้าซื้อผ่าน call center จ่าย 7 เหรียญ/กิโลกรัม สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯที่จะบินไปในโซน 1-5 ให้เริ่มเก็บตั้งแต่อัตรา 12, 15, 40, 45 และ 70 เหรียญ/กิโลกรัม
เส้นทางในประเทศไปสู่โซน 1-5 ให้เริ่มเก็บตั้งแต่ 13, 16, 41, 46 และ 71 เหรียญ/กก. ในโซน 2 ได้แก่ จีน (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เฉินตู กวางเจา เซียะเหมิน) ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ไทเป ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา บินไปในโซน 1-5 ให้เริ่มเก็บ 15, 40, 45, 55 และ 70 เหรียญ/กก.,โซน 3 คือ ออสเตรเลีย (เพิร์ธ) ญี่ปุ่น เกาหลี โอมาน ปากีสถาน อาหรับเอมิเรตส์ ถ้าบินจากกรุงเทพฯ และในประเทศ ไปในโซน 1-5 ให้เรียกเก็บตั้งแต่ 40, 45, 55 และ 70 เหรียญ/กก. ส่วนโซน 4 ในเส้นทางออสเตรเลีย (บริสเบน เมลเบิร์น ซิดนีย์) และรัสเซีย ให้เก็บ 45, 55, 60, 70 และ 70 เหรียญ/กก.
โซน 5 ในเส้นทางบิน ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ให้เรียกเก็บในอัตราเท่ากันคือ 70 เหรียญ/กก. ถ้ามีการจองซื้อตั๋วผ่าน online-call center กำหนดให้ลดราคาลง 50% (ตารางที่ 2)
ฝ่ายการพาณิชย์ของการบินไทยกำลังทบทวนอัตราการจัดเก็บค่าสัมภาระส่วนเกินให้ใกล้เคียงกันกับเส้นทางบินแถ สหรัฐอเมริกา-แคนาดา ที่จัดเก็บเป็นชิ้น หรือเป็นกระเป๋า เช่น 1 ใบ คิด 200 เหรียญ เพื่อไม่ให้อัตราของการบินไทยกลายเป็นการไล่ผู้โดยสารไปใช้สายการบินอื่น
เพราะการจัดเก็บเป็นกิโลกรัม แม้จะลดให้ครึ่งหนึ่งของเพดานจัดเก็บ แต่ถ้าเพดานจัดเก็บยังคิดเป็นกิโลกรัม แม้จะลดให้เหลือ 35 เหรียญ ผู้โดยสารก็ต้องจ่ายกิโลกรัมละ 1,102.5 บาท (31.50 บาทต่อดอลลาร์) ถ้ากระเป๋าส่วนเกินมีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ผู้โดยสารก็ต้องจ่าย 22,050 บาท/ใบ ขณะที่สายการบินในสหรัฐฯ หรือแคนาดา จ่ายเพียง 6,300 บาทต่อกระเป๋าเท่านั้น.