แห่ใช้สิทธิส่งออกผ่าน "เอฟทีเอ-จีเอสพี"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แห่ใช้สิทธิส่งออกผ่าน "เอฟทีเอ-จีเอสพี"

Date Time: 19 ก.พ. 2562 09:40 น.

Summary

  • นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี)

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก


วาดฝันปีหมูทองแตะ8หมื่นล้านเหรียญฯ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) เมื่อปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 74,335 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิ 76% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ 69,602 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 15% โดยมีอัตราการใช้สิทธิส่งออก 78% และภายใต้จีเอสพี 4,733 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9% โดยมีอัตราการใช้สิทธิ 59%

“การใช้สิทธิภายใต้เอฟทีเอ 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียนอันดับ 1 มีมูลค่า 26,890 ล้านเหรียญฯ จีน 17,633 ล้านเหรียญฯ ออสเตรเลีย 9,121 ล้านเหรียญฯ ญี่ปุ่น 7,565 ล้านเหรียญฯ และอินเดีย 4,466 ล้านเหรียญฯ สินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ รถบรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ตู้เย็น น้ำตาลจากอ้อย และทุเรียน”

สำหรับการใช้สิทธิภายใต้จีเอสพี 5 ประเทศ พบว่า ใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯมากสุด คือ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีทั้งหมด 4,248 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 2% รองลงมา คือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช 163 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7% สวิตเซอร์แลนด์ 296 ล้านเหรียญฯ นอร์เวย์ 17.65 ล้านเหรียญฯ และญี่ปุ่น 7.84 ล้านเหรียญฯ ลดลง 58% สินค้าที่ใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่ม และเลนส์แว่นตา

“การใช้สิทธิจีเอสพีของญี่ปุ่นจะเปลี่ยนแปลงในเร็วๆนี้ โดยข่าวร้าย คือวันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป ญี่ปุ่นจะตัดจีเอสพีที่ให้กับไทยทุกรายการ เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ส่วนข่าวดี คือเรารวยขึ้น ก็เลยไม่ได้จีเอสพีอีกต่อไปแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อไทย เพราะสินค้าที่ถูกตัดสิทธิสามารถใช้สิทธิพิเศษภายใต้เอฟทีเอกับญี่ปุ่นที่มีอยู่ 2 กรอบ คือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น และได้ลดหย่อนภาษีนำเข้าในอัตราที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นซอร์บิทอล รายการเดียวที่ได้รับผลกระทบ เพราะถูกตัดจีเอสพี ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้เอฟทีเอทั้ง 2 กรอบ”

ขณะเดียวกัน ในปีนี้กรมตั้งเป้าหมายการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าทั้งเอฟทีเอ และจีเอสพี ไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขับเคลื่อนการส่งออกไปยังตลาดเดิมและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ