ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนา “โลกใหม่ ความท้าทายใหม่ : ยกระดับประเทศไทยในโลก 4.0” โดยนายจัสติน วูด หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (WEF) ได้ปาฐกถาพิเศษว่า ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจในโลกใหม่ ทำให้ต้องปรับดัชนีที่ใช้ชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันใหม่เรียกว่า ดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 หรือ GCI 4.0 ประกอบด้วย 4 กลุ่มดัชนี 12 เสาหลัก ได้แก่ กลุ่มดัชนีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มี 4 เสาหลัก คือ สถาบัน, โครงสร้างพื้นฐาน, การปรับตัวตามเทคโนโลยีสารสนเทศ และเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค กลุ่มดัชนีทุนมนุษย์ มี 2 เสาหลัก คือ การสาธารณสุข และทักษะ กลุ่มดัชนีตลาด มี 4 เสาหลัก คือ ตลาดสินค้า, ตลาดแรงงาน, ระบบการเงินและขนาดของตลาด กลุ่มดัชนีระบบนิเวศของนวัตกรรม มี 2 เสาหลัก คือ พลวัตของภาคธุรกิจและสมรรถนะด้านนวัตกรรม
“ภายใต้ GCI 4.0 ผลการจัดอันดับประเทศไทยปี 61 อยู่ในอันดับที่ 38 หรือ 67.5 คะแนน จาก 140 ประเทศ แต่ในอาเซียน ไทยเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยดัชนีชี้วัดที่ไทยเข้มแข็ง คือ เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ระบบสาธารณสุข ระบบการเงิน ความต่อเนื่องของการทำธุรกิจ ส่วนที่ต้องปรับปรุงคือ เรื่องของสถาบันที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ การศึกษาและการพัฒนาทักษะ ตลาดสินค้าและสมรรถนะด้านนวัตกรรม”
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไวมาก ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น และจะมีธุรกิจใดถูกทำลายล้าง (disrupt) ภาครัฐจึงจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงรูปแบบใหม่ อาทิ การป้องกันภัยทางไซเบอร์ และแม้จะเป็นแผน 20 ปี ก็ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา.