กรมการค้าต่างประเทศ แจงข่าวลือนำข้าวเวียดนาม ผสมข้าวหอมมะลิไทย แล้วส่งออกทำตลาดข้าวไทยเสียหาย ไม่จริง ยันต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนด สุ่มตรวจดีเอ็นเอต่อเนื่อง ขอทุกฝ่ายมั่นใจ...
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวการนำพันธุ์ข้าวหอม Jasmine 85 หรือข้าวหอมพวงของเวียดนาม เข้ามาปลูกในไทย ซึ่งปัจจุบันให้ผลผลิตอยู่ในพื้นที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะมีการนำมาปลอมปนในข้าวหอมมะลิไทย ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ว่า ขอยืนยันข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะในการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย มีระบบการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก หากข้าวหอมมะลิไทยไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ไม่สามารถส่งออกได้
สำหรับข้าวหอมมะลิไทยที่จะส่งออก จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ โดยผู้ส่งออกต้องยื่นขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย และต้องแจ้งให้บริษัทผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์) ตรวจสอบ โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ากำกับดูแลการทำงานของผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) และนำตัวอย่างข้าวมาตรวจวิเคราะห์ เมื่อผลตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐาน จึงออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าให้ไปใช้ประกอบพิธีการศุลกากรเพื่อส่งออกต่อไป
นอกจากนี้ ยังติดตามกำกับดูแลและสุ่มตรวจสอบการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย โดยการสุ่มนำตัวอย่างข้าวที่เซอร์เวย์เยอร์นำส่งมายังสำนักงานมาตรฐานสินค้า และสุ่มซื้อข้าวที่วางจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อนำมาตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำข้าวชนิดอื่นมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย ไม่สามารถทำได้ เพราะหากมีการปลอมปนจริง ก็สามารถตรวจสอบได้ และไม่มีทางที่จะผ่านการตรวจสอบได้ รวมถึงกรณีการนำข้าวหอมพวงมาผสม ก็ไม่มีทางเป็นไปได้เช่นเดียวกัน
"ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เชื่อมั่นในการกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย ซึ่งมีการกำหนดกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพไว้เป็นอย่างดี และยืนยันที่จะดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษามาตรฐานและราคาให้สมกับเป็นข้าวพรีเมี่ยมชั้นเลิศของไทยในตลาดโลกต่อไป"
ขณะเดียวกันความแตกต่างระหว่างข้าวหอมมะลิไทยกับข้าวหอมพวงของเวียดนาม สามารถตรวจสอบได้ โดยผลการตรวจสอบทางลักษณะทางกายภาพ พบว่า ข้าวหอมพวงมีเมล็ดสั้นกว่าข้าวหอมมะลิไทย และเมื่อตรวจสอบด้วยวิธีการตรวจสอบเมล็ดข้าวสุกที่ต้มในน้ำเดือด (การประเมินหาอุณหภูมิแป้งสุก) และวิธีการย้อมสีด้วยสารละลายไอโอดีน (ตรวจหาข้าวนุ่ม) จึงไม่สามารถนำมาปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทย หรือแม้แต่ข้าวหอมไทยได้
ทั้งนี้ปัจจุบันมาตรฐานข้าวไทย มี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ข้าวหอมมะลิไทย ต้องมีข้าวพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 หรือ กข15 ไม่น้อยกว่า 92% , 2.ข้าวหอมไทย มีข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่า 80% และ 3.มาตรฐานสินค้าข้าว ซึ่งเป็นข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวขาว และข้าวนึ่ง.