นอกจากนโยบายลด แลก แจกสะบัด นโยบาย “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดหนักจัดเต็มจนทำเอานโยบายต้นแบบ “ประชานิยม” แทบจะอกแตกตาย
1 ในผลงาน “ชิ้นโบแดง” ที่รัฐบาลชุดนี้จุดพลุขึ้นมาที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับและชูรักแร้เชียร์สุดลิ่มก็คือ โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” เดิม ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่ารัฐบาลจะสามารถต่อยอดโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ระดับ “บิ๊กบึ้ม” นี้ขึ้นมาได้อีก
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มเทเม็ดเงินและมาตรการจูงใจไปกับการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์อีอีซีนี้ หลายต่อหลายโครงการนั้นกำลังเดินมาถึงโค้งสุดท้ายของการประมูลแล้ว
“ทีมเศรษฐกิจ” ถือโอกาสปีหมูทอง 2562 ส่องความคืบหน้าโครงการที่ถือเป็นความหวังของการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ
ที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้ก้าวเข้ามากุมบังเหียน ก็มีหน้าที่จะต้องสานต่อ ดังนี้ :
********************
ภายใต้โครงการพัฒนาอีอีซี มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ 5 โครงการ ที่รัฐบาลหมายมั่นให้ปลุกปั้นให้เกิดขึ้นมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มองว่า ถ้าขาดโครงการใด โครงการหนึ่ง ก็จะทำให้โครงการอีอีซีทั้งหมดอาจไม่ประสบความสำเร็จ
และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการประมูลแบบ PPP (PUBLIC PRIVATE PARTNERSHIP) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐร่วมกับเอกชน ซึ่งรัฐไม่ต้องกู้เงิน ไม่ต้องลงทุนเอง แต่เป็นการร่วมทุนของรัฐและเอกชน และได้รับผลตอบแทน
โดยทั้ง 5 โครงการ มีวงเงินลงทุนรวม 652,559 ล้านบาท เป็นส่วนที่รัฐลงทุน 209,916 ล้านบาท คิดเป็น 32% และเอกชนลงทุน 442,643 ล้านบาท คิดเป็น 68%
ขณะที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับ แบ่งออกเป็น รัฐได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 819,662 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 40,000 ตำแหน่งต่อปี ส่วนผลตอบแทนทางการเงินที่รัฐได้อยู่ที่ 446,960 ล้านบาท ด้านภาคเอกชนได้ผลตอบแทนสุทธิ 110,000 ล้านบาท
ประโยชน์ของโครงการ
● พัฒนา 3 จังหวัดอีอีซี ให้เกิดความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และอีอีซี มีคุณค่าเท่าเทียมเพื่อลดความแออัดของกรุงเทพฯในที่สุด
● ลดการใช้รถยนต์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
● เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกรุงเทพฯและภาคตะวันออก (บางแสน-พัทยา-ระยอง)
● แก้ปัญหาผู้โดยสารระหว่าง 3 สนามบินให้สามารถเดินทางได้โดยสะดวกโดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ
● แก้ปัญหาแอร์พอร์ต ลิงก์ ในเรื่องการบริหาร (ไม่สามารถขยายการบริการและขบวนรถรองรับผู้โดยสาร) ภาระหนี้กระทรวงการคลัง ประมาณ 33,000 ล้านบาท ขาดทุนการดำเนินการปีละประมาณ 300 ล้านบาท
● การให้เช่าที่ดินมักกะสัน เป็นการเปิดฉากการให้เอกชนเข้าบริหารที่ดินของการรถไฟ เพื่อเป็นตัวอย่างการประเมินทรัพย์สินของรถไฟในอนาคต
ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ (มูลค่าปัจจุบัน, NPV)
● เงินลงทุนรวม 182,524 ล้านบาท มาจากภาครัฐ 119,425 ล้านบาท
● ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 343,262 ล้านบาท
● ผลตอบแทนโครงการ 184,028 ล้านบาท
กำหนดเปิดดำเนินการปี 2566 จากที่ได้เปิดประมูลมีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 31 ราย และมีการรวมกลุ่มมาเสนอ 2 ราย ล่าสุดอยู่ระหว่างการตัดสินหาผู้ลงทุน ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง และพันธมิตร จะเป็นผู้ชนะ เพราะเสนอวงเงินในส่วนที่รัฐต้องลงทุนต่ำที่สุดและต่ำกว่าที่รัฐกำหนดไว้ โดยเสนอที่ 117,227 ล้านบาท
ประโยชน์ของโครงการ
● ประเทศไทยได้สนามบินนานาชาติขนาด 60 ล้านคน (ความจุผู้โดยสารเท่ากับสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบัน) สามารถช่วยลดความแออัดของสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ
● สนามบินอู่ตะเภาจะกลายเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City) ใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างงาน สร้างธุรกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว และการบริการอื่นๆให้กับประชาชนโดยทั่วไป ในอนาคตพื้นที่จากพัทยา-ระยอง จะกลายเป็นศูนย์กลางการขยายตัวของการพัฒนาไปโดยรอบไปสู่การเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) ในระยะ 10 ปีข้างหน้า
● เมืองการบินภาคตะวันออก : สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นศูนย์กลางเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานของประเทศไทย
● ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ (มูลค่าปัจจุบัน, NPV)
● เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท มาจากภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท
● ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 189,999 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน 15,640 ตำแหน่งต่อปี
● ผลตอบแทนโครงการ 193,612 ล้านบาท ภาครัฐ 119,353 ล้านบาท ภาคเอกชน 74,259 ล้านบาท
กำหนดเปิดดำเนินการปี 2566 จากการเปิดขายซองมีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 42 ราย และมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ในวันที่ 28 ก.พ.2562 คาดว่าบรรดาผู้ซื้อซองจะมีการรวมเป็นกลุ่มพันธมิตร ก่อนมายื่นแข่งการประมูลเหมือนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
ประโยชน์ของโครงการ
● ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน และผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค
● ได้รับเทคโนโลยีขั้นสูง และสร้างบุคลากรด้านช่างอากาศยานตามมาตรฐานสากล
ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ (มูลค่าปัจจุบัน, NPV)
● เงินลงทุนรวม 10,588 ล้านบาท ภาครัฐ 6,333 ล้านบาท ภาคเอกชน 4,255 ล้านบาท
● ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 22,100 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงานเทคโนโลยีขั้นสูง ประมาณ 80,000 ล้านบาท และการเพิ่มรายได้จากบริการสายการบินต่างประเทศ ประมาณ 200,000 ล้านบาท
● ผลตอบแทนโครงการ 38,872 ล้านบาท ภาครัฐ 36,000 ล้านบาท ภาคเอกชน 2,872 ล้านบาท
กำหนดเปิดดำเนินการกลางปี 2565 วางกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 18 ก.พ.2562
ประโยชน์ของโครงการ
● พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเป็นประตูการค้าสู่ประเทศ CLMV และจีนตอนใต้
● ลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ เพิ่มการขนส่งตู้สินค้าโดยรถไฟไปสู่ท่าเรือ
● ได้รับเทคโนโลยีขั้นสูงด้านระบบจัดการท่าเรือแบบ Automation เพื่อพัฒนาบุคลากรไทย
ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ (มูลค่าปัจจุบัน, NPV)
● เงินลงทุนโครงการท่าเรือ F รวม 84,361 ล้านบาท ภาครัฐ 53,490 ล้านบาท ภาคเอกชน 30,871 ล้านบาท
● ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 180,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน
● ผลตอบแทนโครงการ 76,078 ล้านบาท ภาครัฐ 73,358 ล้านบาท ภาคเอกชน 2,720 ล้านบาท
● ในอนาคตจะเปิดท่าเรือ E โดยเอกชนจะลงทุนเพิ่มอีก 29,686 ล้านบาท รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว รวมเงินลงทุนทั้งหมด ท่าเรือ F และ E ประมาณ 114,047 ล้านบาท
กำหนดเปิดดำเนินการปลายปี 2566 จากที่เปิดซองมีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 32 ราย สำหรับท่าเรือ F กำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 14 ม.ค.2562
ประโยชน์ของโครงการ
● เพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายสินค้าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) และสินค้าของเหลว
ข้อมูลการลงทุนที่สำคัญ (มูลค่าปัจจุบัน, NPV)
● เงินลงทุนโครงการท่าเรือก๊าซ 47,900 ล้านบาท ภาครัฐ 12,900 ล้านบาท ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท
● ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 85,300 ล้านบาท ไม่นับรวมการจ้างงาน
● ผลตอบแทนโครงการ 47,357 ล้านบาท ภาครัฐ 34,221 ล้านบาท ภาคเอกชน 13,136 ล้านบาท
● ในอนาคตจะเปิดท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า โดยเอกชนจะลงทุนเพิ่มอีก 7,500 ล้านบาท รัฐไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว รวมเงินลงทุนทั้งหมด ท่าเรือก๊าซ ท่าเรือสินค้าเหลว และพื้นที่คลังสินค้า ประมาณ 55,400 ล้านบาท
กำหนดเปิดดำเนินการต้นปี 2568 ขณะนี้มีผู้ซื้อเอกสารคัดเลือก 18 ราย สำหรับท่าเรือของเหลวกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอวันที่ 6 ก.พ.2562
******************
นอกจากเม็ดเงินลงทุนมหาศาลข้างต้นในรูปแบบ PPP วงเงิน 652,559 ล้านบาทแล้ว ในโครงการอีอีซียังมีเงินลงทุนร่วม 1 ล้านล้านบาท มาจากรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 99,600 ล้านบาท และเอกชนลงทุนในอุตสาหกรรมและอื่นๆ 947,841 ล้านบาท ภายใต้นโยบายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
รวมๆแล้วเงินลงทุนในอีอีซีจะสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท จึงนับว่าเป็นขุมพลังใหม่ของประเทศไทยที่รัฐบาลเล็งไว้ว่า จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่หลายปีที่ผ่านมาเติบโตมาอย่างช้าๆปีละไม่ถึง 5% ได้มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้ถึง 5% อีกครั้งหนึ่ง.
ทีมเศรษฐกิจ