นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นและปรับแก้จากร่างเดิมที่ ครม.อนุมัติในหลักการไปเมื่อเดือน เม.ย.61 โดยมีสาระสำคัญคือ การกำหนดให้โครงการร่วมลงทุนที่ไม่ได้เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของรัฐ เช่น โครงการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ไม่ต้องนำมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมายฉบับนี้
“ร่าง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฉบับนี้มาจากการปรับแก้ฉบับปี 56 ที่กำหนดขอบเขตไว้กว้างขวาง ทำให้เกิดโครงการร่วมลงทุนที่ไม่อยู่ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะเข้ามาสู่กระบวนการของกฎหมายร่วมลงทุน ทำให้เสียเวลาในการพิจารณา”
นอกจากนี้ ยังกำหนดเป้าหมายให้จัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน เน้นใช้ความ เชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชนในโครงการร่วมลงทุน และถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญจากภาคเอกชนไปยังหน่วยงานของรัฐ พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการดำเนินโครงการต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้มากขึ้น โดยร่นระยะเวลาของขั้นตอนต่างๆให้สั้นลง เช่น มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า เมื่อได้รับผลการคัดเลือกเอกชนแล้วให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาภายใน 15 วัน จากนั้นสำนักงานอัยการสูงสุดต้องส่งร่างกลับให้เจ้าของโครงการภายใน 45 วัน เป็นต้น
สำหรับในกรณีที่เกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือเกิดความล่าช้าในการจัดทำโครงการ ก็ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคณะกรรมการ หรือ ครม.เพื่อกำหนดกรอบระยะเวลา เพื่อให้ทำโครงการร่วมลงทุนได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันยังกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบวินัยทางการเงินการคลัง เช่น สิทธิและประโยชน์ที่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน สิทธิการเช่าที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ในโครงการร่วมลงทุนที่มีระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี.