คุณโดนไหม? เปิดสูตรคำนวณ รีดภาษีแม่ค้าออนไลน์ เสียเท่าไร ใครโดนหางเลข?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คุณโดนไหม? เปิดสูตรคำนวณ รีดภาษีแม่ค้าออนไลน์ เสียเท่าไร ใครโดนหางเลข?

Date Time: 7 ธ.ค. 2561 17:34 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ มัดรวมสรุปรวบยอดมาให้อ่านแบบเข้าใจง่ายๆ ใครโดนเก็บภาษี เก็บแบบไหน คิดอย่างไร มาดู!

Latest


พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขายสินค้าสารพัดตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ หากจะนำตัวรายได้ของทุกร้านมาบวกรวมกันทั้งประเทศคงจะทำเอาคุณๆ ท่านๆ ตกตะลึงกันอยู่ไม่น้อย แต่เท่าที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถเก็บภาษีคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก...

กระทั่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ปิ๊งไอเดียเก็บภาษีแม่ค้าออนไลน์ขึ้นมาตอนปี 60 แต่ก็ถกเถียงกันอยู่นานสองนาน จนมาได้ข้อสรุปเมื่อ 3 วันก่อน (4 ธ.ค.61)

ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ มัดรวมสรุปรวบยอดมาให้อ่านแบบเข้าใจง่ายๆ ใครโดนเก็บภาษี เก็บแบบไหน คิดอย่างไร มาดู!

คำถาม : รัฐจะเอาข้อมูลการทำธุรกรรมของคุณมาจากไหน ใครเป็นคนบอก?
ตอบ : สถาบันการเงิน จะเป็นผู้รายงานการทำธุรกรรมฝากและรับโอนเงินทุกบัญชีของคุณไปยังศูนย์ข้อมูลกลาง หรือ “บิ๊กดาต้า” ของกรมสรรพากร เพื่อที่กรมสรรพากรจะนำข้อมูลของคุณไปตรวจสอบการชำระภาษี หรือเพื่อเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าออนไลน์ต่อไป

คำถาม : รัฐจะรู้ได้อย่างไรว่า คุณเป็นพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์?
ตอบ : 1. หากคุณมีการรับโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งและมียอดเงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป
2. หากคุณฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีที่มีชื่อเดียวกันรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปี (เฉลี่ย 8 ครั้ง/วัน)

คำถาม : หากคุณไม่ได้เป็นแม่ค้าออนไลน์ แต่คุณเข้าเกณฑ์ 2 ข้อข้างต้น คุณต้องเสียภาษีไหม?
ตอบ : ต้องบอกก่อนเลยว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจะเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยนายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า หากกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ มีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่ามีการออกกฎหมายแล้วจะต้องเสียภาษี เพราะทุกคนมีหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้อง

“เชื่อว่าการแก้ไขกฎหมายจะไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 26,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 4-5 แสนบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่า 2 ล้านบาท ไม่ต้องเข้าเกณฑ์เสียภาษีอยู่แล้ว” โฆษกกรมสรรพากร กล่าว

คำถาม : หากสถาบันการเงิน ไม่ส่งข้อมูลของคุณไปให้กรมสรรพากรได้หรือไม่?
ตอบ : หากพบว่า ธนาคารหรือสถาบันการเงินแห่งใดฝ่าฝืน ปิดบัง หรือไม่รายงานข้อมูลธุรกรรมโอนเงินทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นต่อสรรพากร ถือเป็นความผิดมีโทษปรับสูงถึง 1 แสนบาทต่อบัญชี และปรับอีกไม่เกินวันละ 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน เพราะฉะนั้น สถาบันการเงินไม่ซุกข้อมูลของคุณไว้แน่!

คำถาม : แม่ค้าออนไลน์ จะต้องเสียภาษีกี่บาท และมีสูตรคิดอย่างไร?
ตอบ : นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (2-8) กำหนดให้อาชีพอิสระต้องเสียภาษีเหมา โดยนำรายได้ทั้งก้อนไม่หักค่าใช้จ่าย x 0.005 = ภาษีที่ต้องจ่าย 

ยกตัวอย่างเช่น รายได้ทั้งก้อนไม่หักค่าใช้จ่ายคือ 2,000,000 บาท x 0.005 = 10,000 บาท (ภาษีที่ต้องจ่าย)

คำถาม : เริ่มเมื่อไหร่?
ตอบ : กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขรายละเอียดในการดำเนินงาน เช่น จะไม่นับข้อมูลผู้ที่ฝาก โอน หรือถอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมทั้งการเปิดบัญชีครั้งแรก 2 ล้านบาท ก็จะไม่ให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่กรม และการเปิดบัญชีร่วม ที่อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่า จะนับจำนวนที่บุคคลใด

คำถาม : ใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้มากที่สุด?
ตอบ : หลับหูหลับตาตอบก็ยังถูก! รัฐไงจะใครล่ะ
เด้งที่ 1 คือ รัฐสามารถกวาดต้อนผู้ขายสินค้าออนไลน์ทั้งกระบิไปอยู่ในฐานข้อมูลกลางของกรมสรรพากรได้เป็นอย่างดี

เด้งที่ 2 คือ ข้อมูลในจุดนี้ สามารถนำไปขยายผลปราบปรามขบวนการการฟอกเงิน, แก๊งค้ายาเสพติด, เครือข่ายการพนันออนไลน์, เจ้ามือหวยใต้ดิน ฯลฯ

เด้งที่ 3 คือ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ถูกเข็นออกมาใช้ รัฐจะมีรายได้เพิ่มเป็นกอบเป็นกำ!.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ