กรมท่าอากาศยาน เด้งรับ “ท่องเที่ยวเมืองรอง” เร่งปรับโฉมสนามบินภูมิภาค จัดโปรโมชั่นล่อใจสายการบิน “ลดค่าแลนดิ้ง-ค่าพีเอสซี-ค่าใช้พื้นที่” ทันที 50-85% ระยะ 3 ปี มั่นใจผู้โดยสารโตมากกว่าปีละ 4-7%...
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน(ทย.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองนั้น ทาง ทย. ในฐานะที่รับผิดชอบสนามบินภูมิภาคกว่า 28 แห่ง ได้มีการจัดรายการส่งเสริมการตลาด หรือโปรโมชั่น การใช้สนามบินให้กับสายการบินต่างๆ ที่มีการเปิดเส้นทางบินตรงใหม่กับสนามบินของ ทย. เป็นระยะเวลา 3 ปี จากที่เริ่มทำการบิน โดยแผนส่งเสริมการตลาด ประกอบไปด้วย สายการบินจะได้รับส่วนลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing Fee) ในอัตรา 50-85% ตามขั้นบันไดในช่วง 3 ปี, ผู้โดยสารในเส้นทางบินต่างประเทศ จะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินของผู้โดยสารลง 50%, สายการบินจะได้รับส่วนลดการเข้าใช้พื้นที่บริเวณสนามบินที่ขึ้น-ลง 50% ทันที ตลอดอายุ 3 ปี
ทั้งนี้ การใช้มาตรการทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการขอใช้สนามบิน มั่นใจว่าจะทำให้มีปริมาณผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย.โตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 4-7%/ปี จากเดิมมีปริมาณผู้โดยสารผ่านเข้า ออกกว่าปีละ 19 ล้านคน/ปีเท่านั้น ขณะที่อัตราการเติบโตผู้โดยสารผ่านสนามบิน ทย.โตเฉลี่ยปีละ 4% โดยล่าสุดได้มีสายการบินแอร์เอเชีย จากมาเลเซีย ขอเปิดเส้นทางบินตรง กัวลาลัมเปอร์-หัวหิน, สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขอทำการบินเส้นทางบินระหว่างภูมิภาค เช่น หัวหิน-เชียงใหม่ เป็นต้น, สายการบินนกแอร์ มาขอเส้นทางบินใหม่ๆ
นอกจากนั้น ยังมีสายการบินต่างประเทศ จากโปแลนด์ขอบินตรงมาลงกระบี่ รวมถึงมีสายการบินจากจีน คือคุนหมิงแอร์ไลน์ ขอบินตรงลงโคราช นอกจากนั้นยังมีสายการบินลัคกี้แอร์ และสายการบินจากจีนใหม่อีก 2-3 สายการบิน เสนอขอเปิดเส้นทางบินใหม่ เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการโอนย้ายสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบ ทย. จำนวน 4 แห่ง คือ สนามบินอุดรธานี, สนามบินสกลนคร, สนามบินตาก และสนามบินชุมพร ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) อยู่ในขั้นตอนของสรุปรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมดอย่างรอบคอบ เพราะมีบางประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับข้อบังคับ ข้อระเบียบ ทางกฎหมาย ดังนั้นจะต้องรวบรวมข้อมูลบางประเด็นเพื่อเสนอความคิดเห็น และเห็นชอบจากกฤษฎีกาก่อน เนื่องจากข้อมูลบางอย่างยังไม่เคยมีใครปฏิบัติมาก่อน
สำหรับแผนการลงทุนในปี 62 ของ ทย. ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นอกจากมีเป้าหมายให้ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ผ่านอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงพัฒนาท่าอากาศยานให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมไทย เชื่อมโลก โดยให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงคมนาคมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ยังได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินใหม่ขึ้นที่พื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดบึงกาฬ, จังหวัดสตูล สนามบินเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
นอกจากนี้ ยังพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยาน ผ่านโครงการพัฒนาสนามบินแม่สอด กระบี่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และตรัง รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถลานจอดเครื่องบิน ที่สนามบินอุดรธานี สนามบินสกลนคร สนามบินลำปาง และสนามบินบุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังปรับปรุงมาตรฐานด้านการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐาน ICAO ผ่านโครงการระบบตรวจค้นสัมภาระอัตโนมัติหลังเคาน์เตอร์เช็กอิน EDS in line เริ่มติดตั้งปี 60 แล้วเสร็จในปี 62 รวมถึงการให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ตไร้สาย ในสนามบินทุกแห่ง สังกัดกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.ปี 62.