นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ว่า เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเป็นการชะลอของภาคการส่งออก รวมถึงการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวลดลงตาม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ชะลอลงจากไตรมาก่อนหน้า และทำให้แรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 แผ่วกว่าที่ ธปท.คาดไว้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งรัฐบาลกำลังมีมาตรการดูแลในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่ชะลอตัวลงมากในช่วงก่อนหน้าและในเดือน ก.ย.แม้การส่งออกจะขยายตัวลดลง แต่มีปัจจัยลบบางส่วนที่เป็นปัจจัยระยะสั้น ดังนั้น ขอติดตามเครื่องชี้เหล่านี้ในเดือน ต.ค.อีกครั้ง ก่อนที่จะประเมินภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใหม่
ทั้งนี้ การขยายตัวของการส่งออกที่น้อยมากกว่า ธปท.คาด ทำให้เศรษฐกิจเดือน ก.ย.ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยตัวเลขการส่งออกในเดือน ก.ย. ขยายตัวติดลบ 5.5% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวลดลง 6.9% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ทั้งไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ทำให้ ธปท.ประเมินว่า ภาพรวมการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้อาจไม่ถึง 9% แม้ว่าตัวเลข 9 เดือนแรกการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 8.1% แต่หากต้องการให้การขยายตัวทั้งปีของการส่งออกอยู่ที่ 9% ในไตรมาสที่ 4 การส่งออกของไทยจะต้องขยายตัวสูงถึง 11.4%
“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่เห็นในขณะนี้ การส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 4 อาจจะไม่ดีเท่าที่คาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากสงครามการค้าที่ทำให้คู่ค้าของไทยหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ที่ปรับเปลี่ยนการสั่งสินค้า โดยลดจำนวนสั่งซื้อลงหรือแยกสั่งเป็นลอตเล็กๆมากขึ้น เห็นได้ชัดจากกรณีคำสั่งซื้อยางพารา แต่ในเดือน ก.ย.ยังมีปัจจัยระยะสั้นที่อาจจะดีขึ้นในเดือนต่อไป เช่น ปัญหาการขนส่งสินค้าไปญี่ปุ่น และฮ่องกง ล่าช้า เนื่องจากปัญหาวาตภัยที่เกิดขึ้น ส่วนผลกระทบจากสงครามการค้านั้น ในขณะนี้ยังไม่เห็นชัดเจน แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะคงไม่จบง่ายๆ ซึ่งจะส่งผลทั้งลบและบวก แต่ในขณะนี้ไทยจำเป็นต้องปรับตัวหาตลาดใหม่เพื่อรองรับผลกระทบส่วนนี้”.