เปิดเหตุผลเลือกระบบแบ่งปันผลผลิต ประมูล "เอราวัณ-บงกช"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดเหตุผลเลือกระบบแบ่งปันผลผลิต ประมูล "เอราวัณ-บงกช"

Date Time: 1 ต.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • ยังเป็นประเด็นสุดร้อน “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ทำเอาแวดวงพลังงานร้อนฉ่าและอาจทำให้กระทรวงพลังงาน “งานเข้า” เขย่าไปยังเสถียรภาพของรัฐบาล

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ยังเป็นประเด็นสุดร้อน “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ทำเอาแวดวงพลังงานร้อนฉ่าและอาจทำให้กระทรวงพลังงาน “งานเข้า” เขย่าไปยังเสถียรภาพของรัฐบาล

กับการเปิดประมูลสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2 แหล่งใหญ่กลางอ่าวไทย “เอราวัณ-บงกช” จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 ที่เส้นทางการประมูลจัดหาผู้ผลิตรายใหม่ ต้องยืดเยื้อกันมาตั้งแต่ปี 2559 พร้อมๆกับปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูลและรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกันมาไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุดก็ยังไม่ได้ข้อสรุป

ล่าสุดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เดินหน้าเปิดให้เอกชนที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) และหลักเกณฑ์ต่างๆ เข้ายื่นแผนดำเนินงานงบประมาณลงทุน ตลอดจนข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามแผนงานเดิม

ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากเครือข่ายปฏิรูปพลังงานที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลใช้ระบบสัญญาสัมปทานมาตลอด ก็ได้เสนอให้ใช้ระบบประมูลในรูปแบบของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี)

แต่พอรัฐบาลเลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตตามที่ต้องการ กลุ่มที่คัดค้านก็รวมตัวกันจัดตั้ง “สภาพลังงานเพื่อประชาชน” ออกโรงคัดค้านให้ไปใช้ ระบบ “สัญญาจ้างบริการ (เอสซี)” พร้อมเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชะลอการประมูลออกไปอีกรอบ

โดยให้เหตุผลว่า ระบบสัญญาจ้างบริการ รัฐอาจได้รับผลประโยชน์ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ฯลฯ สูงสุดถึง 80-90% เพราะเป็นการจ้างคนอื่นมาทำงาน ขณะที่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่มีข้อดีคือ รัฐสามารถเข้าไปกำกับดูแลการลงทุนทั้งหมด และมีส่วนตัดสินใจ เพื่อความคุ้มค่าจากนั้นจึงนำผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน

ขณะที่ประชาชนคนไทยที่เฝ้าติดตามกรณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ได้แต่ตั้งคำถาม เกิดอะไรขึ้นกับสัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทย

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้เปิดพื้นที่ให้ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อดีตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มาอรรถาธิบาย ไล่เรียงความกระจ่างให้ทุกฝ่ายได้เห็นภาพถึงสถานการณ์พลังงานของประเทศจะเป็นอย่างไร เราจะเอาอนาคตด้านพลังงานและเศรษฐกิจทั้งประเทศไปฝากไว้กับจุดยืนของคนแค่หยิบมือกันได้แค่ไหนอย่างไร?

***********************

ขั้นตอนการประมูลโปร่งใส

นายวีระศักดิ์ เริ่มต้นสนทนากับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า การเปิดประมูลยื่นขอสิทธิและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (เอราวัณ) และ G2/61(บงกช) ตามเงื่อนไขการเปิดประมูลภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) เป็นการทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

ตั้งแต่การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน ตลอดจนขั้นตอนการเปิดประมูลอย่างโปร่งใส เป็นธรรม มีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอนต่อสาธารณชน

“การเปิดประมูลครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศและประชาชน มีก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพลังงานในประเทศใช้อย่างต่อเนื่อง ในราคาที่เหมาะสม เพราะแหล่งเอราวัณจะสิ้นสุดอายุสัมปทานจากผู้รับสัมปทานขณะนี้ในปี 2565 และแหล่งบงกชจะหมดอายุสัมปทานในปี 2566”

ดังนั้น เมื่อปี 2559 รัฐบาลจึงได้มอบให้กรมเชื้อเพลิงฯแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและทันสมัยสอดคล้องกับการบริหารแหล่งปิโตรเลียมในประเทศให้มากขึ้น โดยได้เพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและระบบสัญญาจ้างบริการ ขึ้นมาที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2560 ภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2560

จากนั้นกรมเชื้อเพลิงฯ ได้จัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับประกาศ 1 ฉบับ และอีกกฎกระทรวง 5 ฉบับ ที่ทยอยประกาศออกมาใช้แล้ว เพื่อรองรับการเปิดประมูลดังกล่าวเป็นระยะๆ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 4 พ.ค.2561 จึงได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งก็มีบริษัทมายื่นเอกสารเข้าร่วมการพิจารณาคุณสมบัติ 6 บริษัท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ เข้ายื่นแผนดำเนินงาน งบประมาณลงทุน ข้อเสนอทางเทคนิค ผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ โดยกรมเชื้อเพลิงฯ จะมีการพิจารณาข้อเสนอเพื่อเลือกผู้ชนะการประมูลในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้สามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลในระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตได้ในเดือน ก.พ.2562

แบ่งปันผลผลิตเหมาะสมที่สุด

“แหล่งเอราวัณและบงกชเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ กว่า 70% ของปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในประเทศไทย มาจาก 2 แหล่งนี้ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำไปผลิตไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ”

ดังนั้น ระบบการจัดการปิโตรเลียมที่รัฐจะนำมาใช้กำกับดูแล จึงต้องมีความเหมาะสมเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานและได้รับประโยชน์สูงสุด

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2560 จึงได้กำหนดให้สิทธิสำรวจและผลิต มีทางเลือกให้รัฐสามารถพิจารณานำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างบริการ อย่างใดอย่างหนึ่ง มาดำเนินการได้นอกเหนือจากระบบการให้สัมปทาน บนหลักวิชาการทั้งด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียม ฯลฯ

หลักการสำคัญที่จะเลือกว่าพื้นที่ใดควรใช้ระบบใด คือ พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงในการลงทุนมากน้อยเพียงใด ภายใต้เงื่อนไข 1.ขนาดของแหล่ง 2.ความเสี่ยงในการสำรวจพบในพื้นที่ 3.ปริมาณการลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่ง

เหตุผลที่เลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกับ 2 แหล่งนี้ เพราะมาจากการแบ่งธรณีวิทยาปิโตรเลียมเป็น 5 ภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์เฉลี่ยทั้งประเทศ 39% ของพื้นที่รวม ขณะที่ 2 แหล่งนี้มีโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 50% และเป็นพื้นที่หลุมขนาดเล็ก ภาครัฐถึงได้เลือกการสำรวจหรือผลิตด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต

“ฉะนั้นแนวทางการทำงานของรัฐ จึงมีความเหมาะสม โปร่งใส ไม่มีเจตนาตั้งเงื่อนไขที่สูงเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจงใจทำให้เกิดการใช้ระบบใดระบบหนึ่ง”

เหตุผลไม่ใช้ระบบจ้างบริการ

นายวีระศักดิ์ กล่าวย้ำด้วยว่า หากจะใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ แหล่งปิโตรเลียมจะต้องเป็นแหล่งขนาดใหญ่พอสมควร จูงใจให้กับนักลงทุน และต้องเป็นแปลงที่มีศักยภาพสูงและมีปริมาณต่อหลุมสูง มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสม รวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่ เฉลี่ยทั้งพื้นที่ที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม

หรือกรณีของก๊าซธรรมชาติ ก็ต้องมีปริมาณสำรองตั้งแต่ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ คือปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ หรือ EUR (Estimated Ultimate Recovery) ต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม เพราะหากสภาพทางธรณีวิทยาในพื้นที่มีความซับซ้อน อาจส่งผลให้ปริมาณ EUR ต่อหลุมต่ำ เนื่องจากต้องใช้จำนวนหลุมเจาะมากขึ้น และสภาพพื้นที่ของไทยค่อนข้างซับซ้อนมีรอยเลื่อนตัดจำนวนมากทำให้แหล่งปิโตรเลียมถูกแบ่งเป็นกระเปาะย่อยๆ

ที่สำคัญแหล่งเอราวัณมีปริมาณสำรองอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ขณะที่แหล่งบงกชมีปริมาณสำรอง 0.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ถือเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ

เมื่อปริมาณสำรองน้อย หากใช้ระบบสัญญาจ้างบริการ คงไม่มีเอกชนรายใดมายื่นประมูล

“การเปิดประมูลดังกล่าว ไม่สามารถถอยหลังได้อีกแล้ว เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันจนทำให้ต้องเลื่อนออกไปอีก ต้องใช้เวลาเตรียมตัวไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพราะทิศทางพลังงานของประเทศไทยในอนาคต เป็นเรื่องที่น่ากังวล”

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ