เปิดกงสี ‘จิราธิวัฒน์’ สมบัติแสนล้าน พี่น้องรักใคร่ ไม่ฆ่าฟัน จัดการอย่างไร?

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดกงสี ‘จิราธิวัฒน์’ สมบัติแสนล้าน พี่น้องรักใคร่ ไม่ฆ่าฟัน จัดการอย่างไร?

Date Time: 18 ก.ย. 2561 14:20 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • ลูกหลานมากมายหลายร้อยชีวิตถึงเพียงนี้ ทรัพย์สินกองโตเท่าภูเขา แต่เหล่าทายาทไม่เคยมีข้อครหาวิวาทแย่งชิงทรัพย์สินให้ด่างพร้อย พวกเขาดูแลจัดการกันอย่างไร ทีมข่าวเจาะประเด็น ไล่เรียงเข้าใจง่ายๆ

Latest


หากนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการก่อกำเนิดขึ้นมาของเซ็นทรัลกรุ๊ป ภายใต้การนำของ “เจ็งนี่เตียง” หรือ “เตียง แซ่เจ็ง” ชาวจีนไหหลำที่อพยพเข้ามาสร้างรกรากในไทย ตั้งแต่ปี 2470 ซึ่งตั้งต้นอาชีพจากกิจการร้านกาแฟ และร้านขายของชำเล็กๆ ในฝั่งธนบุรี ก่อนจะข้ามฟากมาเปิด “ห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง” ในปี 2490 ขายหนังสือ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ในปี 2493 เตียง เริ่มเปลี่ยนนามสกุลจากเดิม ที่ใช้ "แซ่เจ็ง" มาเป็น "จิราธิวัฒน์” ซึ่งความหมายของคำว่า "จิราธิวัฒน์" มาจากคำ 3 คำ คือ "จิระ" หมายถึง ยืนนาน "อธิ" หมายถึง ความยิ่งใหญ่ และ "วัฒน์" คือ วัฒนา เมื่อนำมารวมกันแล้ว จะหมายถึง ตระกูลที่มีความยิ่งใหญ่วัฒนาอย่างยาวนาน

จริงและยิ่งใหญ่ตามความหมายของนามสกุล...นิตยสารชื่อดัง ฟอร์บส เปิดเผยถึงความมั่งคั่งของ 50 อภิมหาเศรษฐีไทย โดยข้อมูลพบว่า อันดับที่ 2 จาก 50 กลุ่มบุคคลที่รวยที่สุดในเมืองไทย คือ “ตระกูลจิราธิวัฒน์” แห่งกลุ่มเซ็นทรัล พี่น้องจิราธิวัฒน์มีทรัพย์สินแตะ 2.12 หมื่นล้านเหรียญฯ หรือ 6.62 แสนล้านบาท เลยทีเดียว

ณ ขณะนี้ ทายาทจิราธิวัฒน์ เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 รวมแล้วกว่า 2 ร้อยชีวิต ลูกหลานในตระกูลยังใช้ชีวิตรวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ กระจายอยู่ใน 4 บ้านหลักๆ คือ บ้านศาลาแดง(บ้านดั้งเดิมเจ้าสัวเตียง), บ้านพหลโยธิน, บ้านสาธร พารค์เพลส และคอนโดบนถนนสาทร ซึ่งมีรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 อยู่รวมกันถึง 32 ครอบครัว

ลูกหลานมากมายหลายร้อยชีวิตถึงเพียงนี้ ทรัพย์สินกองโตเท่าภูเขา แต่เหล่าทายาทไม่เคยมีข้อครหาวิวาทแย่งชิงทรัพย์สินให้ด่างพร้อย พวกเขาดูแลจัดการกันอย่างไร ทีมข่าวเจาะประเด็น ไล่เรียงเข้าใจง่ายๆ ที่นี่ที่เดียว...

1. ครอบครัวจิราธิวัฒน์ ใช้ระบบ “คณะกรรมการ” ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของครอบครัวและเรื่องธุรกิจ ซึ่งที่มาของคณะกรรมการจะต้องโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับของครอบครัว

2. ในระบบคณะกรรมการ พ่อ-แม่ หรือพี่ใหญ่ ยังคงกุมอำนาจตัดสินใจสูงสุด เพราะถือเป็นการให้เกียรติผู้อาวุโสที่ก่อตั้งธุรกิจมาช้านาน

3. ตระกูลจิราธิวัฒน์ มี “สภาครอบครัว” ซึ่งมีหน้าที่จัดการสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในด้านต่างๆ, ดูแลระเบียบและการให้สวัสดิการแก่สมาชิก, บริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว (กงสี) รวมทั้งกำหนดผลประโยชน์สำหรับผู้ที่เกิดมาอยู่ใต้ร่มตระกูลนี้

4. สภาครอบครัวจิราธิวัฒน์จะยังคงมีสภาเดียวเสมอไป แม้ตระกูลจะแตกแขนงออกไปมีลูกมีหลานอีกหลายสายครอบครัวแล้วก็ตาม

5. ตระกูลจิราธิวัฒน์ แบ่งแยกเรื่องธุรกิจกับครอบครัวอย่างชัดเจน โดยเรื่องธุรกิจให้ไปที่บอร์ดใหญ่ ส่วนเรื่องครอบครัวให้มาที่สภาครอบครัว

6. คนตระกูลจิราธิวัฒน์ จะมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งสำหรับสมาชิกรุ่นเด็กก็คือ ทุกช่วงปิดเทอม ลูกหลานทุกคนจะต้องเข้ามาทำงานในกิจการของครอบครัว เช่น ขายน้ำ, ขายอาหาร, คิดเงิน เพราะผู้ใหญ่ในตระกูล มองว่าการเริ่มทำงานตั้งแต่เล็ก ช่วยสร้างความคุ้นเคยกับบริษัทและเพื่อนร่วมงาน ฉะนั้น เมื่อเรียนจบก็จะสามารถทำงานได้ทันทีไม่มีติดขัด

7. ห้ามไม่ให้คนในตระกูลทำธุรกิจที่แข่งกับครอบครัว และห้ามไม่ให้ทำธุรกิจที่ต้องมาพึ่งพิงบริษัทของครอบครัว หากไม่กระทำตามจะมีบทลงโทษ คือ เอาสมาชิกคนนั้นออกจากบริษัทครอบครัว, ถูกตัดคะแนน, เป็นแกะดำของครอบครัว เป็นต้น

8. สำหรับคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ ทายาทที่ทำงานให้กับบริษัทจะได้เงินเดือน และเงินปันผล ถ้าผลงานดีได้โบนัส แต่ไม่ได้หุ้นเพิ่ม ส่วนคนที่ไม่ได้ทำงาน จะได้เฉพาะเงินปันผลเท่านั้น

9. สมาชิกในตระกูลจิราธิวัฒน์ จะมีสิทธิ์ในกงสี โดยเฉพาะในเรื่องค่าการศึกษา, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าที่อยู่อาศัย, ค่างานศพ, ค่างานแต่ง เป็นต้น แต่ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์นี้ จะต้องมีความประพฤติดี และไม่เคยทำให้วงศ์ตระกูลด่างพร้อย โดยมีสภาครอบครัวเป็นผู้ดูแลจัดการ

10. ห้ามไม่ให้พี่น้องในตระกูลจิราธิวัฒน์ขายหุ้นให้แก่บุคคลอื่น และขายหุ้นได้เฉพาะกับคนภายในครอบครัวกันเองเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของ "การบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวของตระกูลจิราธิวัฒน์" ยังมีอีกมากมาย และมีสาระสำคัญอีกหลายประการ ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างกิจการครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ โดยยังรักษาความเป็นครอบครัวที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ได้...


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ