นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศไทยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เบื้องต้นผลหารือต้องการให้รัฐกำหนดการประมูล (ทีโออาร์) การจัดซื้อแบบมีเงื่อนไข เพื่อให้มีการลงทุน การจัดซื้อในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรระบบรางเพิ่มขึ้น โดยผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบรางในไทย ควรมีโรงงานประกอบรถไฟฟ้า สร้างคน พัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ทั้งนี้ ผลศึกษาเบื้องต้นยังพบว่า ขณะนี้ไทยมีความต้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขั้นต่ำ 339 ตู้ ขณะที่ รฟท. มีความต้องการหัวรถจักร 314 ตู้ รถขนส่งสินค้า 3,460 ตู้ และรถไฟความเร็วสูง 1 สาย 42 ตู้ แต่ยังไม่มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมระบบราง ขณะที่รัฐมีแผนลงทุนระบบรางปี 61 สูงกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา ใช้วิธีนำเข้าขบวนรถไฟแบบสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ไม่เคยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าหรือหัวรถจักร ซึ่งหากมีการส่งเสริมโรงงานผลิตและซ่อมในประเทศ จะเกิดการลงทุนขั้นต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซื้อรถไฟได้ราคาที่ลดลง 17,000 ล้านบาท จำนวนรถไฟ 6,000 ตู้ ค่าจ้างแรงงานกว่า 2,000ล้านบาทที่จะกลับสู่ประเทศ.