บอร์ดบีโอไอเพิ่มสิทธิ์ “อีอีซีไอ”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บอร์ดบีโอไอเพิ่มสิทธิ์ “อีอีซีไอ”

Date Time: 26 ก.ค. 2561 07:20 น.

Summary

  • “บอร์ดบีโอไอ” เปิดรับนักลงทุนไฟแรง ช่วงรออีอีซีไอเสร็จปี 2565 บริษัทใดอยากลงทุนก่อนให้ลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์ หากอีอีซีไอเสร็จแล้วค่อยย้าย พร้อมขยายสิทธิ์ครอบคลุม 7 มหาวิทยาลัย...

Latest

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาดธุรกิจค้าปลีกปี 2568 โต 3-5% หวังแรงหนุนจากท่องเที่ยวและส่งออก

เปิดพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต้อนรับนักลงทุน

“บอร์ดบีโอไอ” เปิดรับนักลงทุนไฟแรง ช่วงรออีอีซีไอเสร็จปี 2565 บริษัทใดอยากลงทุนก่อนให้ลงทุนในอุทยานวิทยาศาสตร์ หากอีอีซีไอเสร็จแล้วค่อยย้าย พร้อมขยายสิทธิ์ครอบคลุม 7 มหาวิทยาลัยรองรับเมืองนวัตกรรมอาหารและอนุมัติ 4 โครงการมูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท “นิสสัน-ฮอนด้า” ปักหลักผลิตรถไฟฟ้า

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ประกาศเพิ่มเขตส่งเสริมการลงทุนสำหรับพื้นที่อีก 7 แห่ง ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะประกาศเป็นเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือฟู้ดอินโนโพลิส นอกเหนือจากโครงการฟู้ดอินโนโพลิสที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ได้แก่พื้นที่ในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และในภูมิภาคได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยกิจการที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่เหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากบีโอไอ เป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของโลก

สำหรับสิทธิประโยชน์พิเศษคือ นอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างน้อย 5-10 ปี ตามหลักเกณฑ์พื้นฐานของแต่ละประเภทกิจการแล้ว ยังจะได้รับสิทธิเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี หรือเพิ่มจำนวนปีการยกเว้นภาษีเงินได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้บีโอไอขยายสิทธิประโยชน์ที่ให้กับโครงการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ให้ครอบคลุมการลงทุนในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างที่การพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนเข้ามาลงทุนก่อนในช่วงระหว่างที่รอโครงการแล้วเสร็จ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าโครงการลงทุนที่จะยื่นขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ จะต้องเป็นการลงทุนในกิจการเป้าหมายสำหรับอีอีซีไอ เช่น การวิจัยและพัฒนา บริการทดสอบวิทยาศาสตร์ การผลิตระบบอัตโนมัติ และการพัฒนาซอฟต์แวร์มูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น และจะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธ.ค.2562 และจะต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่ในเขตอีอีซีไอภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2565 รวมทั้งต้องมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด

น.ส.ดวงใจ กล่าวด้วยว่า ได้รายงานบอร์ดบีโอไอถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 คือช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. มีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 720,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ทั้งนี้พบว่า การขอรับส่งเสริมทั้งหมด เป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 316 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 224,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยรวม

สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ช่วง 6 เดือนแรก มี 142 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 300,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 122% ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายจะยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2561

ขณะเดียวกัน บอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มอีก 4 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 29,631 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,600 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี 2.บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,960 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยบริษัทมีแผนที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 15,920 ล้านบาทต่อปี 3.บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมและแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,821 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี โดยบริษัทมีแผนใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ กันชนหน้า/หลัง ชุดสายไฟ เป็นต้น

คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,766.8 ล้านบาท และ 4.บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,250 ล้านบาท โดยจะเช่าเครื่องบินแบบ Airbus A330 จำนวน 6 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 377 ที่นั่ง เพื่อให้บริการครอบคลุมทั้งการขนส่งผู้โดยสาร ทั้งแบบประจำเส้นทางและแบบเช่าเหมาลำ ทั้งนี้ บริษัทจะขยายเส้นทางใหม่ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ