รถไฟฟ้าอลหม่านรายวัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

รถไฟฟ้าอลหม่านรายวัน

Date Time: 3 ก.ค. 2561 05:01 น.

Summary

  • ทำเอาวิถีชีวิตคนกรุงชุลมุนวุ่นวายตลอดเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กับกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องเป็นรายวัน ประชาชนผู้โดยสารต้องติดแหง็ก-แออัดยัดทะนานบนสถานีรถไฟฟ้า และต้องใช้เวลานานกันนับชั่วโมง

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

ทำเอาวิถีชีวิตคนกรุงชุลมุนวุ่นวายตลอดเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

กับกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องเป็นรายวัน ประชาชนผู้โดยสารต้องติดแหง็ก-แออัดยัดทะนานบนสถานีรถไฟฟ้า และต้องใช้เวลานานกันนับชั่วโมงหรือหลายชั่วโมงกว่าจะไปทำงาน หรือกลับถึงบ้านได้

สถิติรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องจนทำประชาชนผู้โดยสารอลหม่านอย่างหนักเฉพาะเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมามีถึง 9 ครั้ง และตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมานับแต่ต้นปีนั้นขัดข้องไปแล้วถึง 28 ครั้ง แต่ละครั้งมากน้อยแตกต่างกัน

แรกก็โยนกลองเพราะมีคนปล่อยคลื่นรบกวน โยนขี้ว่าค่ายมือถือสื่อสารปล่อยสัญญาณคลื่นรบกวน โดยเฉพาะบริษัททีโอที และดีแทค ที่กำลังดำเนินการทดสอบสัญญาณคลื่นใหม่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) บริเวณใกล้เคียง แต่เมื่อดีแทคทดลองปิดคลื่น ปัญหาขัดข้องก็ยังมีอยู่ จนผู้คนเรียกร้องให้ กทม.ยกเลิกสัญญาบีทีเอสไปเลย

ท้ายที่สุด เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยื่นมือเข้ามาร่วมตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ทุกฝ่ายก็มาถึงบางอ้อ ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสนั้น ดอดมาใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ในการให้บริการระบบอาณัติสัญญาณ

ทั้งที่คลื่นดังกล่าวเป็น “คลื่นสาธารณะ” ที่ให้บริการไวไฟ และเป็นคลื่นที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้และใช้กันอย่างหลากหลายโดยไม่ต้องขออนุญาต เพราะเป็นคลื่นที่กันไว้สำหรับให้บริการฟรีไวไฟ ส่งไฟล์วิดีโอยิงขึ้นจอภาพตามตึกสูงต่างๆ รวมทั้งค่ายมือถือสื่อสารและภาคธุรกิจต่างๆ ก็มีการขอใช้กันอย่างแพร่หลาย

เมื่อบีทีเอสหันมาใช้คลื่นดังกล่าวเซตระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้า จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสัญญาณรบกวน ยิ่งเมื่อมาเจอกับทีโอทีและดีแทคที่กำลังร่วมกันทดสอบคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่อยู่ในย่านใกล้เคียง มันจึงเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง เพราะมีโอกาสที่สัญญาณจะรบกวนกันสูงมาก

แล้ว “บีทีเอส” ดอดมาใช้คลื่นไวไฟ 2400 ได้อย่างไร?

น่าแปลกธุรกิจแสนล้านที่ต้องให้บริการประชาชน ซึ่งต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยเป็นที่ตั้งแต่กลับไปฝากผีฝากไข้ไว้กับคลื่นสาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ไม่ต่างไปจากการเอาชีวิตผู้โดยสารที่ต้องขึ้นเครื่องไปฝากไว้กับบริการรถเมล์ ขสมก. ยังไงยังงั้นทั้งที่ต้องจัดรถ Shuttle bus มารับ-ส่งโดยตรง

นายฤทธิไกร ขัณฑวีระมงคล เว็บมาสเตอร์เว็บไซต์เอดีเอสแอลไทยแลนด์ ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาคลื่นความถี่รบกวน ระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีการระบุมาจากสัญญาณ WiFi กำลังส่งสูงบริเวณห้างสรรพสินค้าว่า จากประสบการณ์ติดตั้ง WiFi ให้โอเปอเรเตอร์ในเขตใจกลางเมืองกรุงเทพฯและย่านธุรกิจ การติดตั้งมีความระมัดระวังในการเปิดสัญญาณ ส่วนใหญ่เปิดสัญญาณ ที่มีกำลังส่งต่ำและมีความแรงของสัญญาณไม่ไกลมากจึงไม่น่าจะกระทบ กับระบบของบีทีเอส

ส่วนที่บอกว่าคลื่น 2300-2400 เมกะเฮิรตซ์ (WiFi) รบกวนสัญญาณก็ไม่น่าจะเกี่ยวกัน เนื่องจากคลื่นย่านดังกล่าว มีการติดตั้งใช้งานมานานแล้วกว่า 10 ปี หากจะกวนสัญญาณต้องกวนมานานตั้งแต่ต้น และเมื่อดีแทคซึ่งใช้คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ของทีโอทีได้ทำการปิดสัญญาณจากสถานีฐานถึง 20 แห่ง แต่ระบบของบีทีเอสก็ยังเกิดปัญหาแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับคลื่น 2300 MHz

“บีทีเอสควรเปิดเผยข้อมูลที่เป็นการยืนยันว่าสัญญาณ WiFi ไปรบกวนระบบสื่อสารของรถไฟฟ้าจริง และรบกวนอย่างไร เพื่อให้สาธารณะรู้ความจริง แม้การเดินรถไฟฟ้าในต่างประเทศจะมีการใช้คลื่นย่าน 2400 เมกะเฮิรตซ์อยู่บ้างแต่ก็มีการใช้คลื่นย่านอื่นๆ อาทิ 700-800 เมกะเฮิรตซ์ในระบบสื่อสารของรถไฟฟ้าเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม แนวทางอันเป็นข้อยุติที่ทุกฝ่ายได้หารือกันลงตัวไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยบีทีเอสจะย้ายไปใช้คลื่นความถี่ช่วง 2480-2495 เมกะเฮิรตซ์ จากปัจจุบันที่ใช้คลื่นความถี่ในช่วง 2410-2450 พร้อมเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณและใส่อุปกรณ์ป้องกันการรบกวน ขณะที่ในส่วนของทีโอทีและดีแทคจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าชั่วคราวจนกว่าการอัปเกรดสัญญาณได้แล้วเสร็จ

ด้วยความคาดหวัง หลังเคลียร์หน้าเสื่อปัญหาคลื่นความถี่ดังกล่าวได้แล้วเสร็จ ปัญหาขัดข้องของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ว่าคงจะหมดไป

แต่หากยังคงเกิดปัญหาขัดข้องจนนำไปสู่ความโกลาหลขึ้นอีก โดยที่ยังคงวนอยู่กับปัญหาเดิมหรือ “ซ้ำรอยเดิม” ก็เห็นที “บีทีเอส” คงต้องตอบสังคมเหตุใดถึงยังคงฝากผีฝากไข้ธุรกิจแสนล้านที่ต้องให้บริการประชาชนโดยคำนึงถึงความปลอดภัยนี้บนคลื่นความถี่สาธารณะที่ใครก็ใช้ได้อยู่อีก!!!

ชูชาติ สว่างสาลี


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ