ประกาศห้ามออกไอซีโอชั่วคราว ก.ล.ต.ชี้ผิดกฎหมาย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ประกาศห้ามออกไอซีโอชั่วคราว ก.ล.ต.ชี้ผิดกฎหมาย

Date Time: 16 พ.ค. 2561 10:05 น.

Summary

  • ก.ล.ต.ประกาศชัด! ใครออก ICO ขณะนี้ผิดกฎหมาย ขอเวลาออกเกณฑ์คุม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ให้เสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมจับผู้ประกอบธุรกิจขึ้นทะเบียนใน 90 วัน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

รอเกณฑ์ใหม่คุมสินทรัพย์ดิจิทัล

ก.ล.ต.ประกาศชัด! ใครออก ICO ขณะนี้ผิดกฎหมาย ขอเวลาออกเกณฑ์คุม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ให้เสร็จสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมจับผู้ประกอบธุรกิจขึ้นทะเบียนใน 90 วัน เอาโทษปั่นราคา–ใช้ข้อมูลภายในเหมือนหุ้น “รพี” ย้ำอีกครั้ง ลงทุนมีความเสี่ยงสูงมาก ด้าน “สรรพากร” เล็งเก็บภาษีบุคคลนิติบุคคล 15%

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงการคลังว่า วานนี้ (15 พ.ค.) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.กุลยา ตันติเตมิท โฆษกกระทรวงการคลัง ได้แถลงข่าวพระราช กำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 เรื่องการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยนายรพีกล่าวว่า หลังจากที่ พ.ร.ก.ดังกล่าว ประกาศใช้เพื่อกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO) รวมทั้งการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ ทำให้การขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชนจะทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภท บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้ รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.เท่านั้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการออกกฎเกณฑ์ ดังนั้น การระดมทุนด้วยการเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ประชาชนครั้งแรก ในขณะนี้จะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่า ก.ล.ต.จะออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเสร็จเรียบร้อย

“ใครหรือบริษัทใดที่จะออก ICO จากนี้ไปไม่สามารถทำได้ และถือว่าผิดกฎหมาย โดยในช่วงระหว่างที่ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ทาง ก.ล.ต.จะเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความ คิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 21 พ.ค.นี้ และใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ใครที่เคยทำหรือออก ICO ไปแล้วไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง โดยคาดว่าหลักเกณฑ์จะเสร็จในสิ้นเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค.เป็นต้นไปน่าจะเริ่มดำเนินการได้”

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนก่อนที่จะออกเป็นหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.นั้น จะมีการรับฟังความคิดเห็นในหลายประเด็น เช่น การจำกัดประเภทของนักลงทุน, การกำหนดวงเงินลงทุนของผู้ลงทุน เช่น จำนวนที่จะซื้อในแต่ละครั้งว่าไม่เกินเท่าไร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วก่อนวันที่ พ.ร.ก.นี้มีผลใช้บังคับ ต้องยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจภายใน 90 วัน หรือภายในวันที่ 14 ส.ค.2561

นายรพีกล่าวต่อว่า ในส่วนของการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถเอาผิดได้ในลักษณะเทียบเคียงกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การบอกกล่าว เผยแพร่ เปิดเผยข้อความที่เป็นเท็จทำให้สำคัญผิด การใช้ข้อมูลภายใน การซื้อขายตัด หน้าลูกค้า การสร้างราคา เป็นต้น รวมถึงมีความผิดเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้น แม้ว่าการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตและมีมาตรฐานตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต.แล้ว แต่ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าธุรกิจที่นำเงินจากการระดมทุนไปใช้จะประสบความสำเร็จ เพราะในทางกลับกันในต่างประเทศการดำเนินธุรกิจประเภทนี้มีมากกว่า 90% ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การลงทุนจึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก และ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น

“การผ่านการอนุญาตจาก ก.ล.ต.ไม่ได้หมาย ความว่าจะไม่ขาดทุน หรือขาดทุนน้อย แต่อย่างน้อยก็ยืนยันได้ว่าธุรกิจผ่านเกณฑ์แล้ว มีตัวตน มีหนังสือชี้ชวน (White Paper) ที่สามารถแนะนำตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยแยกผู้ระดมทุนโดยสุจริตออกจากพวกแชร์ลูกโซ่ได้ และสิ่งสำคัญอยากเตือนนักลงทุนคือ สินทรัพย์ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมูลค่ามีการปรับขึ้นลงอย่างหวือหวาตลอดเวลา อีกทั้งไม่มีผลประกอบการมาสนับสนุน ซึ่งขึ้นกับบรรยากาศการลงทุนล้วนๆ ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจึงมีหลายระดับมาก”

ด้านนายสาโรช ทองประคำ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสรรพากร กล่าวว่า ใน พ.ร.ก.การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 นั้น มีการกำหนดเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัลสำหรับกรณีของบุคคลธรรมดา และเมื่อบุคคลธรรมดาได้ถูกเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละครั้งที่ได้จากกำไรหรือผลประโยชน์จากการถือครองคริปโตเคอเรนซี หรือโทเคนดิจิทัลแล้ว จะต้องมีการนำรายได้ไปคำนวณการหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสิ้นปีด้วย

ขณะที่ในกรณีของนิติบุคคล การจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของนิติบุคคล จะต้องจัดทำเป็นกฎกระทรวงอีกฉบับออกมา โดยคาดว่าจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นอาจจะเป็นอัตราเดียวกับที่เรียกเก็บคือ 15% นอกจากนั้น นิติบุคคลจะต้องมีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) อัตรา 7% ด้วย ซึ่งต่างจากบุคคล ธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษีในส่วนนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ