ลุงตู่ช่วยไม่ได้ แรงงานไทยยังชีช้ำ หนี้หัวโต พุ่ง! รอบ 10 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลุงตู่ช่วยไม่ได้ แรงงานไทยยังชีช้ำ หนี้หัวโต พุ่ง! รอบ 10 ปี

Date Time: 26 เม.ย. 2561 14:44 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ปี 61 แรงงานไทยหนี้ท่วม สูงสุดรอบ 10 ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.37 แสน ใช้ในชีวิตประจำวัน พบส่วนใหญ่เคยผิดนัดชำระ เพราะรายได้หด ส่วนวันแรงงานคาดใช้จ่าย 2 พันกว่าล้าน โต 3.7% จากค่าครองชีพสูง...

Latest


ปี 61 แรงงานไทยหนี้ท่วม สูงสุดรอบ 10 ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.37 แสน ใช้ในชีวิตประจำวัน พบส่วนใหญ่เคยผิดนัดชำระ เพราะรายได้หด ส่วนวันแรงงานคาดใช้จ่าย 2 พันกว่าล้าน โต 3.7% จากค่าครองชีพสูง...

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน จำนวน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ เพื่อสอบถามสถานะแรงงานไทย พบว่า ภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 61 มีมูลค่าสูงสุดรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 52 โดยเฉลี่ยแรงงานเป็นหนี้ 137,000 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เทียบกับปี 60 แบ่งเป็นกู้หนี้ในระบบสัดส่วน 65.4% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.6% ต่อปี และกู้หนี้นอกระบบสัดส่วน 34.6% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 20.1% ต่อเดือน

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ตอบ 96.0% ยังมีภาระหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนการตอบที่สูงสุดรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยสาเหตุของการก่อหนี้ ส่วนใหญ่ 36.1% ระบุเป็นหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ก่อหนี้เพื่อลงทุน ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ก่อหนี้เพื่อรักษาพยาบาล และก่อหนี้เพื่อใช้เงินกู้ ขณะที่การผ่อนชำระหนี้ของแรงงานไทยพบว่า มีการใช้หนี้ต่อเดือนประมาณ 5,326 บาท และเมื่อถามว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยผิดนัดผ่อนชำระหรือไม่ ส่วนใหญ่ 85.4% ตอบเคยผิดนัดชำระ สาเหตุจากรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค. 61 ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานของกลุ่มแรงงานประมาณ 2,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับการใช้จ่ายปี 60 โดยมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 52 ซึ่งสาเหตุของมูลค่าการใช้จ่ายวันแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยกิจกรรมที่แรงงานทำช่วงวันแรงงาน คือ ท่องเที่ยว สังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน ดูหนัง ซื้อของ เป็นต้น

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำที่มีผลเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 61 มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ผู้ตอบส่วนใหญ่ตอบเหมาะสมปานกลาง และต้องการให้รัฐบาลปรับเพิ่มค่าแรงงานขึ้นทุกปี ซึ่งต้องปรับเพิ่มให้เท่ากับค่าครองชีพที่เพิ่ม รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลลดปัญหาการว่างงาน ควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ดูแลการประกันสังคม ลดดอกเบี้ยเงินกู้ และควบคุมหนี้นอกระบบ


ทั้งนี้จากการสำรวจประเมินได้ว่า กำลังซื้อของกลุ่มแรงงานเริ่มฟื้นแต่ยังเปราะบางมาก เมื่อรวมกับรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตร ที่มีปัญหาทั้งราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ซึ่งทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มเกษตรกรมีสัดส่วนถึง 60% ในโครงสร้างประชากรไทย หรือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ที่ยังไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวช่วงนี้จึงมาจากภาคการท่องเที่ยวและส่งออกเท่านั้น

“สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาคือ เร่งงบกลางเข้าระบบท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการก่อสร้างในการจ้างแรงงาน และการดูแลราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งเร่งโครงการลงทุนของภาครัฐ เพราะปัจจุบันเม็ดเงินเหล่านี้ยังลงไประบบท้องถิ่นช้า และบริษัทก่อสร้างที่ได้รับงานก็เป็นรายใหญ่ แต่รัฐบาลต้องกระจายงานให้ถึงบริษัทก่อสร้างรายย่อยด้วย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 เติบโต 4.2-4.4% โดยศูนย์ฯยังคงไม่ปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ ยังคงคาดการณ์เติบโตที่ 4.2-4.6%” นายธนวรรธน์ กล่าว


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์