มติ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% ต่อปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

มติ กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% ต่อปี

Date Time: 28 มี.ค. 2561 16:57 น.

Video

แก้เกมหุ้นไทยตกต่ำ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดแผนฟื้นความเชื่อมั่น | Money Issue

Summary

  • ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี

Latest


ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดย 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เมื่อไตรมาสก่อน โดยได้รับแรงส่งจากทั้งภาคต่างประเทศและอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดีแต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงิน

สำหรับในระยะต่อไป กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

อย่างไรก็ดี กรรมการ 1 ท่าน เห็นว่าภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประชาชนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงของภาวะการเงินในอนาคตต่ำกว่าที่ควร ในขณะที่การลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงบ้างในภาวะปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและดีกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าปัญหาดังกล่าวต้องแก้ไขด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศ คู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยสินเชื่อ SMEs ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าระหว่างประเทศ ของประเทศ อุตสาหกรรมหลัก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุดที่อาจจะสร้างความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำและธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างและรูปแบบการทำธุรกิจ

นายจาตุงค์ กล่าวว่า มองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ ในขณะที่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ