เศรษฐกิจไทย "เทคออฟ" สนธิรัตน์ คุยโวดัน ยอดส่งออกโตทะลุ 6%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจไทย "เทคออฟ" สนธิรัตน์ คุยโวดัน ยอดส่งออกโตทะลุ 6%

Date Time: 8 ก.พ. 2561 10:15 น.

Summary

  • “สมคิด” ยืนยันเศรษฐกิจไทยทะยานขึ้นแล้ว แจงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวติดเครื่องแล้ว หลังจากประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัว สั่งพาณิชย์กระทุ้งส่งออกดันโตทะลุ 6% ด้านขุนคลังทุ่มงบกลาง 1.5 แสนล้าน...

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“สมคิด” ยืนยันเศรษฐกิจไทยทะยานขึ้นแล้ว แจงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวติดเครื่องแล้ว หลังจากประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัว สั่งพาณิชย์กระทุ้งส่งออกดันโตทะลุ 6% ด้านขุนคลังทุ่มงบกลาง 1.5 แสนล้าน ปฏิรูปภาคเกษตร ดูแลคนจนและมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานแสดงวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ในหัวข้อ “ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018” ในงานครบรอบ 15 ปี หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ว่า การบริหารประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจติดเครื่องและเดินไปข้างหน้าได้ ตามที่ได้เห็นผลในวันนี้ ซึ่งตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ในวันแรกได้บอกไว้ก่อนแล้วว่า จะทำงานหนักอย่างแรกคือ ปล่อยให้เศรษฐกิจทรุดไม่ได้ ทรุดไปแล้วจะดีดไม่ขึ้น จนมาถึงวันนี้เลิกพูดคำว่า ทรุดไม่ได้ไปแล้ว ดังนั้น ใครที่บอกว่าเศรษฐกิจขาลงน่าสงสัยว่าเครื่องส่งจะมีปัญหา

“เมื่อเศรษฐกิจพ้นคำว่า ทรุดไปแล้ว ปีนี้ถ้าดูคำทำนายของสำนักคาดการณ์ทางเศรษฐกิจทุกแห่งปรับตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นมาแล้วหลายรอบ ดีขึ้นมาตลอด เห็นแล้วว่า ที่ผ่านมา ในส่วนของรายจ่ายรัฐบาลได้ขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ โดยขอให้เร่งเครื่องก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี เช่นเดียวกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เพราะถือเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกหลังจากที่ลำบากมานาน ปีที่ผ่านมาการส่งออกขยายตัวจากลบมาเป็นบวก ทั้งปี ส่งออกขยายตัว 9.9% ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ผมเชื่อว่า การส่งออกในปีนี้ก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน”

ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นก็ดีขึ้น ซึ่งการบริหารงานเศรษฐกิจสิ่งสำคัญคือ การบริหารจิตใจคน ถ้าขาดความเชื่อมั่นอะไรก็ไม่เกิด ไม่บริโภค ไม่ลงทุนจะขอปลอดภัยไว้ก่อน แต่ที่ผ่านมาทั้งปี ดัชนีความเชื่อมั่นของทุกสำนักโดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของมหาวิทยาลัยหอการ-ค้าไทยเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือ 3 ปี เมื่อความเชื่อมั่นฟื้นคืนมา มั่นใจได้ว่าการบริโภคในปีนี้จะดีขึ้นแน่นอน ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศเริ่มเห็นชัดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาว่าเริ่มพุ่งทะยานขึ้นมา ความเชื่อมั่นมากขึ้นเท่าไหร่ การลงทุนจากต่างประเทศจะมากขึ้นเท่านั้น ในปีนี้คาดว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะอยู่ที่ 720,000 ล้านบาท ส่วนการท่องเที่ยวก็แข็งแรงขึ้นทุกวัน

เทงบ 3 หมื่นล้านดูแลคนจน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงการคลังได้จัดทำงบประมาณกลางปี 2561 เพิ่มอีก 150,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งเงินจากรายได้ของรัฐบาล 50,000 ล้านบาท และเงินกู้ 100,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2561 ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเป็น 550,000 ล้านบาท จากเดิมกำหนดขาดดุลไว้ที่ 450,000 ล้านบาท ซึ่งยืนยังมีเสถียรภาพ โดยหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ยังอยู่ที่ระดับต่ำ 42% ทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลการค้ายังเกินดุล โดยงบประมาณกลางปีที่เพิ่มเติมจะดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ 1.การดูแลผู้มีรายได้น้อย 2.การปฏิรูปภาคการเกษตร เช่น แบ่งโซนพื้นที่เพาะปลูก เพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตร และ 3.การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด

“งบกลางปีเพิ่มอีก 550,000 ล้านบาท จะไม่มีปัญหาต่อฐานะการเงินการคลังเพราะรัฐบาลไม่ได้แจกเงิน โดยนำงบลงทุนไปดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แม้คนจะพูดว่า การลงทุนภาครัฐผ่านโครงสร้างพื้นฐานจะต้องใช้เวลา แต่ผมเชื่อว่าการลงทุนจะทำให้เกิดการกระจายตัวของเศรษฐกิจและเติบโตได้อย่างมีสิทธิภาพ”

สำหรับโครงการที่จะดำเนินการนั้น จะประกอบด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 จะใช้วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างรายได้เพื่อให้พ้นเส้นความยากจน ขณะที่ภาคเกษตรที่ปลูกพืชแบบเดิมๆ เป็นเวลานานและจำนวนมากนั้น จะเน้นการปรับเปลี่ยนพืช เพื่อยกระดับมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงพืชเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสุดท้ายคือ การเดินหน้าโครงการระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

พาณิชย์ลุยเจาะตลาดโลก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการนำไปสู่ไทยแลนด์เทคออฟมี 2 ขา ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรใหญ่ของเศรษฐกิจไทย เชื่อว่า มูลค่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะขยายตัวมากกว่า 6% ขึ้นไป เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเป้าการส่งออกที่มากกว่า 6% อย่างเป็นทางการในการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ในวันที่ 19 ก.พ.นี้

“ภาคการส่งออกละเลยไม่ได้ เพราะเป็นเครื่องจักรที่ใหญ่มหาศาลในปีนี้ การตั้งเป้าหมายจะต้องมากกว่า 6% ขึ้นไป ซึ่งก่อนหน้านี้ ที่ประเมินจะเติบโตได้ 6% เป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรมใหญ่เป็นรายกลุ่มหรือรายเช็คเตอร์ แต่หากภาครัฐขจัดปัญหาส่งออกได้ เชื่อว่าตัวเลขจะเติบโตมากกว่า 6% ได้แน่นอน”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้มากกว่า 6% มาจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะผลักดันการส่งออกได้ โดยจะเน้นตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น จีน อินเดีย และรัสเซีย ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่ายอมรับว่า อาจกระทบต่อเป้าหมายการส่งออกแต่ผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวด้วย โดยเชื่อว่าหากประเมินเป้าหมายการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯแล้ว การส่งออกจะเติบโตมากกว่า 6% ภายใต้ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 32-32.5 บาท/เหรียญฯ

และ 2.คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการดูแลสินค้าเกษตร โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันที่ผลักดันการส่งออกสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจนขณะนี้ราคาผลปาล์มสดปรับขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 3.80 บาท จากช่วงก่อนหน้านี้ที่ กก.ละ 3.20 บาท และในเดือน ก.พ.จะขึ้นมาที่ กก.ละ 4 บาท, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ กก.ละ 9.50-9.60 บาท, หัวมันสำปะหลังสดปรับขึ้นที่ กก.ละ 2.40-2.45 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกโดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิปรับขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 17,000 บาท

เร่งปฏิรูปภาคการเกษตร

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรกำลังเผชิญปัญหาเช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด หนี้สินซ้ำซาก เป็นต้น เพราะขาดปัจจัยสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ขาดความรู้ 2.ขาดเงินทุน และ 3.ไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งทางออกของภาคเกษตรไทยคือ การปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องบูรณาการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อหาช่องทางการค้า ตลาดใหม่ และเชื่อมตลาดโลก หรือ “ตลาดนำการผลิต” โดยจะร่วมมือกับผู้ช่วยทูตพาณิชย์เพื่อทำให้สินค้าเกษตรทุกชนิดเมื่อผลิตออกมามีตลาดรองรับ

“ผลงานในปีนี้ หวังว่าจะไม่มีผลผลิตล้นตลาด ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้ปรับนโยบายวางแผนการผลิตใหม่ อาทิ การรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำนาแปลงใหญ่ เพื่อใช้เครื่องจักรในการผลิต ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร ทำเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังผลักดันคนรุ่นใหม่ให้เป็นเกษตรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) มากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2557 ที่เริ่มโครงการถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 7,598 ราย”

ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรมกล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.พ. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.อีอีซี) จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 3 จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งจะใช้โครงการอีอีซีให้เป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะคนใน 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองเท่านั้น และในปีนี้ โครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจะดำเนินการออกเงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ เช่น รถไฟทางคู่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ