ชี้แนวคิดนวัตกรรมเปิดหนุนองค์กรธุรกิจเปิดรับ-แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ชี้แนวคิดนวัตกรรมเปิดหนุนองค์กรธุรกิจเปิดรับ-แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน

Date Time: 21 ต.ค. 2560 13:18 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • "กานต์ ตระกูลฮุน" ระบุนวัตกรรมแบบเปิดช่วยให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภายนอกองค์กร หนุนให้เกิดความร่วมมือเชิงพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น...

Latest


"กานต์ ตระกูลฮุน" ระบุนวัตกรรมแบบเปิดช่วยให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากภายนอกองค์กร หนุนให้เกิดความร่วมมือเชิงพันธมิตรสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อนวัตกรรมแบบเปิดขึ้นเพื่อก้าวสู่อนาคตแห่งนวัตกรรมประเทศไทยกำลังมุ่งเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม มี ศ.ดร.เฮนรี่ เชสโบร์ว ผู้คิดค้นแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด กรรมการบริหาร - ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจทางด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และนายกานต์ ตระกูลฮุน ผู้บริหาร TMA และหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization โครงการสานพลังประชารัฐ ร่วมบรรยาย

นายกานต์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ ประเทศไทยมีนโยบายมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับเมื่อช่วงหลาย 10 ปี ก่อนที่ประเทศไทยมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก คือ 0.2% ของ GDP เท่านั้น ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้มีการลงทุน 3-4% ของ GDP แต่ประเทศไทยก็ได้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนด้านนี้ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 0.6% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% ภายในอีกปีหรือ 2 ปีจากนี้ นอกจากนี้ ภาครัฐในไทยเริ่มมีแนวทางการผลักดันนวัตกรรมที่ชัดเจน เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัย หรือแม้แต่ให้สิทธิประโยชน์ภาษีรายบุคคล รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยในภาครัฐสามารถข้ามไปทำงานในภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทำอยู่

นายกานต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การทำวิจัยและพัฒนาในประเทศต่างๆ ก็ต่างคนต่างทำ อาจมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยบ้าง แต่เอกชนมักไม่ค่อยได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความรวดเร็วในการดำเนินงานต่างกัน หรือลำดับความสำคัญของการทำงานต่างกัน อาจารย์ก็ต้องมีภาระงานสอนด้วย แต่ในช่วง 10 ปีมานี้ หลายประเทศเริ่มมีการตั้ง Open Innovation Center เพื่อแสดงและเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบว่าหน่วยงานนี้มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง และมีความต้องการเทคโนโลยีอะไรอีก หรือนักวิจัยคิดค้นงานซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ภารกิจใดในองค์กร แต่อาจไปเจอโครงการจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสนับสนุนกันได้ก็มี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสร้างความร่วมมือได้มากกว่าเดิม

ทั้งนี้ อีกภาคส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือ SME และ Startup ซึ่งเป็นแนวโน้มกำลังมาแรงในขณะนี้ ปกติแล้ว SME และ Startup จะไม่สามารถลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้มากนัก เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้ประโยชน์เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ในมุมมองคิดว่า ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งมีองค์ความรู้จำนวนมากควรเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำวิจัยให้ SME และ Startup เพราะบางครั้ง มหาวิทยาลัยอาจจะทำวิจัยตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด แต่ตอนนี้ภาครัฐควรตั้งเป้าหมายผลักดันนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งมั่นใจว่านวัตกรรมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งในประเทศได้อย่างแน่นอน

นายกานต์ กล่าวอีกว่า ทำไมต้องนวัตกรรมแบบเปิดนั้น แนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์จากภายนอกองค์กร หรืออาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับองค์กรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน      

ด้าน ศ.ดร.เฮนรี่ กล่าวว่า แนวคิดหลักของนวัตกรรม คือ ไม่มีองค์กรไหนที่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพัง องค์กรจะอยู่รอดได้ต้องมีความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และยกระดับความสามารถกับองค์กรอื่นทำไมถึงต้องนวัตกรรมแบบเปิด ในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีการทำวิจัยและพัฒนาในห้องแล็บ แต่ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยและ Startup ทำวิจัยมากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล บริษัทใหญ่เริ่มพัฒนาช้าลง ในขณะที่ Startup กลับพัฒนาเร็วขึ้น และยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนประเทศ อย่างมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งให้บริการด้านสังคม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมจะช่วยเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจและสังคมโดยรวมให้พัฒนาต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมแบบเปิดไม่เพียงแต่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เช่น เปลี่ยนหมู่บ้าน Mori ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านอัจฉริยะ ที่ทุกครัวเรือนเข้าถึง wifi, เคเบิลทีวี และทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด หมู่บ้านในชนบทของไทยก็มีศักยภาพที่จะมีนวัตกรรมเช่นนี้ได้ แม้ว่าจะทำเกษตรพื้นฐาน แต่แน่นอนว่า เกษตรกรต้องมีการซื้อขายผลผลิตทางเกษตรกับภายนอกหมู่บ้าน อาจจะโดยตรงหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคนเหล่านี้อาจเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยผ่านแอปอย่าง Alipay และ WeChat ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเอเชีย อย่างประเทศจีนตอนนี้ก็ทำธุรกรรมผ่าน Alipay เกือบทั้งหมด

ศ.ดร.เฮนรี่ กล่าวต่อว่า การทำนวัตกรรมแบบเปิดไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป ทุกโครงการมีความเสี่ยง และมีหลายโครงการที่ไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงชุดความคิดขององค์กรเพื่อเปิดรับนวัตกรรมและร่วมมือกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย คนในองค์กรจะต้องเปิดใจรับการเติบโตในรูปแบบใหม่ ๆ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์