เกษตรระส่ำ! ทำไม่พอกิน สถิติเผยทิ้งไปหาอาชีพอื่นกว่า 6.3 แสนคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เกษตรระส่ำ! ทำไม่พอกิน สถิติเผยทิ้งไปหาอาชีพอื่นกว่า 6.3 แสนคน

Date Time: 14 ต.ค. 2560 06:15 น.

Summary

  • สำนักงานสถิติเปิดผลสำรวจภาวะว่างงานเดือน ส.ค.ระบุอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.1% จำนวนผู้ว่างงานรวม 4.25 แสนคน จบปริญญายังครองแชมป์เตะฝุ่น ขณะที่คนภาคอีสานทำสถิติว่างงานสูงสุด รองลง มาเป็น กทม.

Latest

“โกโก้ร้านไอ้ต้น” แฟรนไชส์สัญชาติไทย ปีเดียว ขยายสาขา 160 แห่งในจีน ความแปลก ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

สำนักงานสถิติเปิดผลสำรวจภาวะว่างงานเดือน ส.ค.ระบุอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.1% จำนวนผู้ว่างงานรวม 4.25 แสนคน จบปริญญายังครองแชมป์เตะฝุ่น ขณะที่คนภาคอีสานทำสถิติว่างงานสูงสุด รองลง มาเป็น กทม. ตะลึง! ภาคเกษตรเทียบกับปีที่ผ่านมา คนทำงานลดลง 6.3 แสนคน ทั้งผู้ปลูกข้าวเหนียว ข้าวโพด และยาง พารา สอดคล้องกับความเห็นของ สศช.ที่คาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจภาวะการว่างงานในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 425,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 65,000 คน โดยอัตราการว่างงานในขณะนั้นอยู่ที่ 0.9% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ค.2560 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 51,000 คน โดยเดือน ก.ค.มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2%

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามระดับการศึกษาของผู้ว่างงานพบว่า ในจำนวนผู้ว่างงาน 425,000 คน เป็นผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำนวน 158,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.9% รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 91,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.4%, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 86,000 คน อัตราว่างงาน 1.4%, ระดับประถมศึกษา 71,000 คน อัตราว่างงาน 0.9% และระดับต่ำกว่าประถมศึกษาจำนวน 19,000 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 0.2% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 พบว่า ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 45,000 คน, ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 15,000 คน, ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มขึ้น 12,000 คน และระดับต่ำกว่าประถมศึกษามีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,000 คน ส่วนผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษามีจำนวนลดลง 10,000 คน

ขณะที่เมื่อแยกผู้ว่างงานออกเป็นรายภาคพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ว่างงานสูงสุดที่จำนวน 134,000 คน รองลงมาเป็นภาคกลางจำนวน 107,000 คน, ภาคใต้จำนวน 84,000 คน, กรุงเทพมหานครจำนวน 55,000 คน และภาคเหนือจำนวน 45,000 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 จะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดจำนวน 59,000 คน, กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นจำนวน 24,000 คน, ภาคใต้เพิ่มขึ้นจำนวน 19,000 คน ส่วนภาคเหนือมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 19,000 คน และภาคกลางลดลง 18,000 คน

ขณะเดียวกัน ด้านภาวะการมีงานทำนั้นผลสำรวจพบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 56 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงานจำนวน 38.08 ล้านคน แยกเป็นผู้มีงานทำจำนวน 37.6 ล้านคน ผู้ว่างงานจำนวน 425,000 คน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 52,100 คน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงานจำนวน 17.92 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน, นักเรียน, คนชรา เป็นต้น

สำหรับผู้มีงานทำในจำนวน 37.6 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมจำนวน 12.29 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 25.31 ล้านคน เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.2559 พบว่า ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวนผู้ทำงานลดลง 630,000 คน หรือจากจำนวน 12.92 ล้านคน ลงมาเหลือ 12.29 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าวเหนียว การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการปลูกยางพารา ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานลดลง 230,000 คน เป็นการลดลงในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์รวม 200,000 คน สาขาก่อสร้าง 120,000 คน สาขาการผลิต 90,000 คน สาขาที่พักและบริการด้านอาหาร 70,000 คน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับจำนวน 140,000 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับด้านแรงงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ในการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2 ประกอบด้วย ผลกระทบการจ้างงานและรายได้เกษตรกรจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลง และปัญหาอุทกภัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ซึ่งเกษตรกรมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรที่อ่อนตัวลง โดยในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรลดลงเฉลี่ย 4.2% และมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ ตามราคายางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน

นอกจากนี้ สศช.ยังแนะให้เร่งพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานให้ตรงกับความ ต้องการของตลาดแรงงาน และยกระดับผลิตภาพแรงงาน อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแรงงานภายในองค์กร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ อาจมีผลทำให้รูปแบบและความต้องการจ้างงานเปลี่ยนไป เช่น การจ้างงานแบบสัญญาจ้างมีระยะเวลา ความ ต้องการแรงงานที่สามารถทำงานได้หลายหน้าที่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ