มหากาพย์! โครงการประมูลรถเมล์ NGV 489 คัน ของ ขสมก. ที่ผ่านมาต้องล้มลงอย่างไม่เป็นท่า ก็เพราะราคาเดิม 3.3 พันล้านบาท เป็นราคาที่ไม่สามารถตอบโจทย์เงินทอนกว่า 600 ล้านบาทตามความปรารถนาของกลุ่มคนบางกลุ่มได้?
ปุจฉาข้างต้นนำไปสู่ความพยายามที่จะดันราคากลางให้ขึ้นไปเกินกว่า 4,000 ล้านบาท จึงสำเร็จสมความตั้งใจ ทั้งๆที่รู้ว่าผิดหลักเกณฑ์ที่ ป.ป.ช.กำหนด ด้วยการเล่นปาหี่เปิดประมูลด้วยราคา 3.3 พันล้าน บาท ก็เพื่อหาเหตุจำเป็นแย้งไปที่ ป.ป.ช. ยอมให้ขึ้นราคากลางไปที่ 4 พันกว่าล้านให้ได้
พยายามปั้นประเด็นรับส่งลูกกันเป็นทีมไล่ตามระดับชั้นหาเหตุว่า...ราคา 3.3 พันล้านไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีผู้เข้าร่วมประมูล โดยอ้างเหตุ “ราคารถบวกภาษีนำเข้า” จึงไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล
สุนทร ชูแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเบสท์รินฯ ก็เคยเปิดประเด็นดักทางไว้แล้วว่า ขสมก. หรือใครก็ตามที่กำลังใช้ความพยายามผลักดันราคากลางรถ NGV 489 คันที่กำลังจะมีการประมูลจาก 3.3 พันล้านฯ เป็น 4 พันกว่าล้านฯ “ขอเรียนว่าราคาที่เบสท์รินฯชนะนั้น เป็นราคาที่รวมภาษีต่างๆ และค่าธรรมเนียมครบถ้วนแล้ว ขสมก.ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถเมล์แพงไปมากกว่านี้”
ทว่า...นอกจากไม่มีใครฟังแล้ว ขสมก.ยังเดินหน้าที่จะซื้อรถเมล์ในราคา 4 พันกว่าล้านสำเร็จลุล่วงจนได้ เมื่อนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การ (บอร์ด) ขสมก. ออกมาฟันธงราคากลางรถเมล์เอ็นจีวีรอบใหม่ 4,020 ล้านบาท เปิดประมูลกลางเดือนตุลาคม
พร้อมส่งมอบลอตแรก 20 คันก่อนปีใหม่ตามใจนายกรัฐมนตรี
ตอกย้ำด้วยนายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกมาเปิดเผยว่า โครงการจัดซื้อรถ NGV 489 คัน ที่ได้ล้มประมูลไปนั้น ล่าสุด ขสมก.ได้นำประกาศร่างเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยใช้วงเงินราคากลางใหม่ 4,020 ล้านบาท
โดยจะนำทีโออาร์ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อประชาพิจารณ์เป็นครั้งแรก ในวันที่ 18-21 ก.ย. นี้ หากมีข้อเสนอแนะจากประชาชนจะนำมาพิจารณาทบทวนปรับทีโออาร์อีกครั้ง ก่อนนำประกาศร่างทีโออาร์ขึ้นเว็บไซต์ เพื่อประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน
สำหรับการส่งมอบรถแบ่งออกเป็น 2 ลอตในทีโออาร์ โดยลอตแรกต้องส่งมอบ 20 คัน ภายใน 40 วันหลังจากลงนามสัญญา เนื่องจากต้องการนำรถบางส่วนมาวิ่งให้บริการประชาชนก่อนและต้องการนำมาวิ่งให้เป็นของขวัญคนไทยในวันขึ้นปีใหม่ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ตามแผนรถลอตแรกต้องได้รับก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 หรืออย่างช้าต้นเดือนมกราคม 2561 ส่วนลอตที่สองทยอยส่งมอบจนครบ 489 คัน ภายใน 120 วัน
ทั้งนี้ ราคากลางจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน วงเงิน 4,020,158,000 บาท แบ่งเป็นจัดซื้อรถโดยสาร 489 คัน เป็นเงินประมาณ 1,735,550,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคา/หน่วย 3,549,182 บาท)
ส่วนราคากลางจ้างซ่อมแซมและบํารุงรักษารถโดยสาร 489 คัน ระยะเวลา 10 ปี เป็นเงินประมาณ 2,284,608,000 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็นช่วงปีที่ 1-5 เป็นเงิน 825,493,125 บาท (อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 925 บาท/คัน/วัน) และช่วงปีที่ 6-10 เป็นเงิน 1,459,114,875 บาท (อัตราเฉลี่ยไม่เกิน 1,635 บาท/คัน/วัน)
ราคารถบัส NGV คันละ 3.5 ล้านก็ดูสมเหตุสมผล...ราคาค่าซ่อมบำรุงรักษาช่วงปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 อยู่ที่ราคา 925 บาทต่อคันต่อวันก็ดูมีเหตุมีผล... แต่ที่ผิดสังเกต ราคาที่พุ่งพรวดจากราคาเดิม 3.3 พันล้านมาเป็น 4 พันล้านพบว่า...มีการเพิ่มส่วนต่าง 600 กว่าล้านบาท ตรงราคาค่าซ่อมบำรุงรักษาปีที่ 6 ถึงปีที่ 10
...อยู่ที่ราคา 1,635 บาทต่อคันต่อวัน
ช่างบังเอิญแบบเป๊ะๆ ตัวเลขส่วนต่าง 600 ล้านบาทที่ว่านี้ ดันไปตรงตามกระแสข่าวที่ปิดกันให้แซ่ดภายใน ขสมก.เองว่าเป็นเงินทอนให้กับใครบางกลุ่มใช่หรือไม่? หรือถ้า ขสมก. ต้องการจะดันราคากลางขึ้นมาอีก 600 ล้านบาทให้ได้ ทำไมไม่ขึ้นที่ราคารถตามที่ ขสมก. อ้างเหตุกับ ป.ป.ช.ว่าราคา 3.3 พันล้านต่ำไป...
“ราคารถบวกภาษี” และ “ค่าซ่อมบำรุง 10 ปี” แล้วราคากลางต้องเป็น 4 พันล้านบาทเท่านั้นถึงจะมีเอกชนสนใจร่วมประมูล แต่ ขสมก.กับบอร์ดทั้งคณะ กลับเห็นชอบให้ทีโออาร์ฉบับใหม่ซุกราคาค่าซ่อมบำรุงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10...แทนราคารถ NGV บวกภาษี
เท่านั้นยังไม่พอ ในทีโออาร์ยังมีการหมกเม็ดเพื่อเอื้อประโยชน์สนองเอกชนบริษัทฯหนึ่งอย่างออกนอกหน้าหรือเปล่า หากพินิจพิเคราะห์ให้ดีๆ จากข้อเสนอแนะของเอกชนรายหนึ่งในการทำประชาพิจารณ์ของ ขสมก.
วันที่ 26 กันยายน 2560 นายสุรดิษฐ์ สีดามาตย์ บริษัท แม่โขงเทคโนโลยี จำกัด มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติ (NGV) พร้อมซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร 489 คัน
นายสุรดิษฐ์ตั้งข้อสังเกตไปที่เรื่องระยะเวลาการส่งมอบรถโดยสารครั้งที่ 1 กำหนดระยะเวลาการส่งมอบรถโดยสารจำนวน 489 คัน ภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา
โดยจะต้องส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศ (NGV) จำนวน 20 คัน ภายในระยะเวลา 40 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา และส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศ (NGV) ส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน
ทาง ขสมก.ได้ชี้แจงว่า “หากผู้ประกอบการเข้าใจว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น เพื่อความโปร่งใส ขสมก.จึงได้ตัดข้อความในส่วนนี้ออก”
ต่อมา...นายสุรดิษฐ์ทักท้วงด้วยเอกสารส่งตรงถึง ขสมก.อีกเป็นครั้งที่ 2 ว่าแม้ทาง ขสมก. ได้ตัดข้อความในส่วนนี้ออกไปแล้ว แต่ ขสมก.กลับเพิ่มเงื่อนไขเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการส่งมอบรถโดยสารไว้ในข้อ 6 “หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณา” โดยตั้งเป็นเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับบริษัทฯที่สามารถนำส่งมอบรถได้เร็วกว่ารายอื่น
“ในความเป็นจริงรถโดยสารประจำทางแบบชั้นเดียว ไม่มีบันไดหรือที่เรียกว่ารถชานต่ำ มิใช่เป็นรถโดยสารแบบทั่วไป ที่มีผู้ประกอบการรายอื่นใช้งาน และมีการสั่งผลิตอยู่เป็นประจำ จึงไม่น่าจะมีผู้ผลิต...ผู้ประกอบการรายใด มีสต๊อกสินค้าไว้ หากมีผู้ประกอบการรายใดมีสต๊อกสินค้ารถโดยสารนั้นๆไว้อยู่แล้ว ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ประกอบการรายอื่น อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใดรายหนึ่ง”
ขณะที่มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาจาก “กรมศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง” ว่า ประมาณเดือนกว่าๆที่ผ่านมา มีเอกชนรายหนึ่งนำเข้ารถบัสมีลักษณะตรงตามสเปกและสีตามที่ ขสมก.กำหนดไว้แบบเป๊ะๆ จำนวน 2 เที่ยวขน เที่ยวละ 16 คัน รวม 32 คัน
รถบัส NGV ทั้ง 32 คัน มีการสำแดงราคาต้นทุนแบบ Non Complete หมายถึงยังไม่สมบูรณ์ คือรถจำนวนดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์ ซึ่งต้องจ่ายภาษีนำเข้า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยคำนวณจากราคาต้นทุนสำแดง ซึ่งจะถูกกว่าการนำเข้ามาแบบสมบูรณ์ทั้งคันมากกว่าครึ่ง แม้จะนำเข้าเครื่องยนต์มาประกอบภายหลัง
คำถามคือ?...“รถบัสปริศนา” หน้าตาตรงตามสเปก ขสมก.จำนวนนี้คือรถ 20 คันแรกที่ ขสมก. กับกระทรวงคมนาคม ตั้งใจสานฝันให้นายกฯ มอบแก่ชาวกรุงเทพฯเป็นของขวัญปีใหม่ใช่หรือไม่?...ถ้ารู้กัน ช่วยเหลือกันถึงเพียงนี้แล้ว ขสมก.จะต้องเสียเวลาเปิดประมูลไปทำไม?