ปลดล็อกทรัพยากรชาติ! "บรรยง" หนุนกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ปลดล็อกทรัพยากรชาติ! "บรรยง" หนุนกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

Date Time: 27 ก.ย. 2560 08:45 น.

Summary

  • “บรรยง พงษ์พานิช” ประกาศหนุนกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสุดตัว เชื่อหากทำสำเร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันให้รัฐวิสาหกิจปลดเปลื้องประเทศออกจากกับดักการพัฒนา ชูเทมาเส็กต้นแบบความสำเร็จบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“บรรยง พงษ์พานิช” ประกาศหนุนกฎหมายปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสุดตัว เชื่อหากทำสำเร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันให้รัฐวิสาหกิจปลดเปลื้องประเทศออกจากกับดักการพัฒนา ชูเทมาเส็กต้นแบบความสำเร็จบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ

นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก Banyong.pongpanich โดยประกาศสนับสนุน พ.ร.บ.การพัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะจะเป็นการปฏิรูปเชิงสถาบันครั้งใหญ่ที่สำคัญมาก หากทำได้สำเร็จจะเป็นการปลดปล่อยทรัพยากรทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลที่เคยถูกใช้งานอย่างมีข้อจำกัด ไม่เกิดประสิทธิผลเต็มที่ให้นำมาใช้ได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะปลดเปลื้องประเทศออกจากกับดักการพัฒนาที่ติดมาเป็นสิบปีแล้ว

โดย “บรรยง” ระบุว่า รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 14 ล้านล้านบาท พอๆกับรายได้ประชาชาติและโตเร็วมากจากที่เคยมีขนาดแค่ 4.7 ล้านล้านบาท เมื่อ 13 ปีก่อน หมายความว่ารัฐได้กวาดเอาทรัพย์สินทางเศรษฐกิจเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารจัดการมากขึ้นเรื่อยๆสวนกระแสโลกที่พยายามลดบทบาทรัฐด้านนี้ลง

ผูกขาดประสิทธิภาพต่ำ

ขณะที่รัฐวิสาหกิจแทบทุกแห่งมีการดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนสูงและยังมีการรั่วไหลมาก แม้จะมีกำไรรวมกันปีละ 200,000-300,000 ล้านบาท นำส่งรายได้เข้ารัฐ 120,000 ล้านบาท ดูเหมือนจะมาก แต่ถ้าเทียบกับปริมาณทรัพย์สินที่ใช้ ถือว่ามีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำมาก ไม่ถึง 2.5% (สี จิ้นผิงประกาศปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจีนครั้งใหญ่เพราะผลตอบแทนต่อทรัพย์สินลดต่ำกว่า 5%ต่อปี จากที่เคยสูงกว่า 6%)

โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรแทบทุกแห่งล้วนผูกขาด เช่น การไฟฟ้า ประปา ท่าอากาศยาน การท่าเรือ โรงงานยาสูบ ส่วนกิจการที่ต้องแข่งขันกับเอกชนมักมีปัญหาขาดทุนหนัก บางแห่งแทบอยู่ในภาวะล้มละลาย เช่น ทีโอที แคท การบินไทย การรถไฟ ขสมก.

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจมีรายได้ต่อปีรวมกันมากกว่า 5 ล้านล้านบาท (เกือบ 40% ของ GDP) และมีค่าใช้จ่ายรวมกว่า 4 ล้านล้านบาท สองเท่า ของงบประมาณแผ่นดิน กับมีการลงทุนอีกปีละหลายแสนล้านบาท ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าจำนวนเงินในการคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจนั้นน่าจะสูงกว่าที่โกงกินจากงบประมาณแผ่นดิน เพราะงบที่สูงกว่าและไม่ต้องผ่านระบบงบประมาณแผ่นดินที่รัดกุมยุ่งยากกว่า

ต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วน

นอกจากครอบครองทรัพย์สินมหาศาล มีบทบาทในระบบมากแล้วรัฐวิสาหกิจยังประกอบกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานซึ่งจำเป็นต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และเป็นรากฐานของภาคเอกชน หากส่วนนี้ไม่มีประสิทธิภาพประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร ดังนั้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนเป็นวาระแห่งชาติ

ปัญหาของรัฐวิสาหกิจมาจากโครงสร้างระบบการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นโครงสร้างแบบเดิมไม่ทันกับยุคสมัย เช่น เป้าหมายที่ย้อนแย้งกันเอง บทบาทที่ขัดแย้งกันของผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรม (Regulator) และผู้ดำเนินการ (Operator) ซึ่งปัจจุบันกระจุกรวมกันอยู่ที่กระทรวงเจ้าสังกัด ไม่มีกลไกคานอำนาจเท่าที่ควร ขาดผู้ทำหน้าที่เป็นเจ้าของแทนประชาชนที่จะปกป้องและรับผิดชอบให้รัฐวิสาหกิจประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการแข่งขันที่เท่าเทียมและมีการแทรกแซงโดยมิชอบจากภายนอก

แยกบทบาทหน้าที่ชัดเจน

ทั้งนี้ แนวทางการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ มีหลักการคือ แบ่งแยกบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และผู้ดำเนินการออกจากกันชัดเจน และให้มีการตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของ (บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ) เพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพ สร้างศักยภาพการแข่งขัน และให้การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งจากนี้ไป จะมุ่งเน้นความโปร่งใสโดยต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากที่สุดตามมาตรฐานสากลทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องนโยบาย เรื่องการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหาร การประเมินผลการดำเนินงาน การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้าง

สำหรับคณะกรรมการ คนร.ที่ตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.นี้ จะมีอำนาจกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ตั้งแต่การแต่งตั้งกรรมการการประเมินผลงบลงทุน รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์ในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นการกลั่นกรองนโยบาย ที่เดิมกระทรวงเจ้าสังกัดมีอำนาจทำได้เองหรือนำเสนอ ครม.ได้เอง ซึ่งเท่ากับ คนร.รับมาเป็นเจ้าของนโยบายเอามาปฏิบัติผ่านรัฐวิสาหกิจ ส่วนกระทรวงก็เป็นผู้เสนอนโยบายและตามดูผลกับทำหน้าที่กำกับดูแล

เทมาเส็กต้นแบบความสำเร็จ

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการในเชิงพาณิชย์และเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน ซึ่งมี 11 แห่ง ให้โอนไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” ซึ่งจะตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.นี้ โดยบรรษัทจะทำหน้าที่ถือหุ้นและกำกับดูแลแทนรัฐ เพื่อมุ่งเน้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวอย่างประเทศที่มีการจัดตั้งองค์กรบริหารรัฐวิสาหกิจ เช่น เทมาเส็กของสิงคโปร์ถือเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาก ใช้เงินเริ่มต้นแค่ 172 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เมื่อลีกวนยูจัดตั้ง 42 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร 200,000 ล้าน-เหรียญสิงคโปร์ ที่สำคัญรัฐวิสาหกิจที่เทมาเส็กดูแล ล้วนเป็นบริษัทชั้นนำที่มีการลงทุนไปทั่วโลก เช่น Singtel, SingAirline, DBS, Capita Land.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ