ชงครม.เก็บภาษีค่าความหวาน กว่าร้อยเครื่องดื่มทั้งชาเขียว-ชูกำลังไม่รอด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ชงครม.เก็บภาษีค่าความหวาน กว่าร้อยเครื่องดื่มทั้งชาเขียว-ชูกำลังไม่รอด

Date Time: 15 ส.ค. 2560 07:45 น.

Summary

  • คลังเล็งเสนอ ครม. วันนี้ (15 ส.ค.) เก็บภาษีค่าความหวานเครื่องดื่ม 111 รายการ ตั้งแต่น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งแต่ 10 สตางค์ถึง 1 บาท เหตุมีค่าความหวานสูงและทำลายสุขภาพของประชาชน มีผลเดือน ก.ย.62

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

คลังเล็งเสนอ ครม. วันนี้ (15 ส.ค.) เก็บภาษีค่าความหวานเครื่องดื่ม 111 รายการ ตั้งแต่น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง ตั้งแต่ 10 สตางค์ถึง 1 บาท เหตุมีค่าความหวานสูงและทำลายสุขภาพของประชาชน มีผลเดือน ก.ย.62

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ส.ค.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 29 จากทั้งหมด 30 ฉบับ และได้เสนอให้ ครม.เห็นชอบไปแล้ว 28 ฉบับ ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวออกตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ภายหลังจากได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.60 และจะมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน หรือวันที่ 16 ก.ย.60 ส่วนกฎกระทรวงฉบับที่ 30 จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบปลายเดือน ส.ค.นี้ สำหรับกฎกระทรวงการคลัง 2 ฉบับสุดท้าย เป็นเรื่องอ่อนไหวเพราะเป็นการกำหนดอัตราภาษีใหม่จากเดิมที่กรมจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานของสินค้าที่ผลิตในประเทศ และราคาซีไอเอฟ (ราคาของสินค้ารวมอากรขาเข้า ณ ท่าเรือ) ของสินค้าที่นำเข้า ซึ่งต้องเปลี่ยนมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ส่งผลให้อัตราภาษีที่ตั้งอยู่บนฐานการคำนวณเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่จะไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้า หรือมีผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับที่ 29 ประกอบด้วย 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.กำหนดอัตราค่าทำเนียมต่างๆ เช่น ค่าทำเนียมเปิดร้านสุรา และบุหรี่ เป็นต้นและ 2.เก็บภาษีสินค้าทั่วไป เช่น รถยนต์ เครื่องดื่ม เป็นต้น โดยเฉพาะภาษีเครื่องดื่ม จะจัดเก็บจากค่าความหวานของน้ำตาลเพิ่มด้วย ถือเป็นอัตราภาษีใหม่ที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน “หลักการของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตมี 3 รูปแบบคือ 1.เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 2.เก็บภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพ และ 3.เก็บภาษีการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งในรอบนี้ กระทรวงการคลังได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข และเห็นตรงกันว่า ค่าความหวานในเครื่องดื่มทุกชนิด เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และชาเขียว มีผลลบต่อสุขภาพประชาชน จึงเสนอเก็บภาษีค่าความหวานเพิ่มเติมในกฎกระทรวงการคลังฉบับที่ 29”

ส่วนหลักการของการเก็บภาษีค่าความหวานนั้น หากเครื่องดื่มมีค่าความหวาน หรือน้ำตาลมากกว่า ที่กฎหมายกำหนด ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม เช่น น้ำอัดลม ปัจจุบันเสียภาษีอยู่แล้ว 20% ของมูลค่า ยังจะต้องเสียภาษีค่าความหวานเพิ่มอีก 1 รายการ (รวมเป็น 2 ขา) โดยกำหนดว่า เครื่องดื่มที่มีค่าความหวาน 0 แต่ ไม่เกิน 6 มิลลิกรัม (มก.) ต่อลิตร ไม่เสียภาษี แต่หากเกิน 6 มก.ต่อลิตร ต้องเสียภาษีในอัตราที่กรมกำหนด อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยอัตราภาษีค่าความหวานจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 2 ปี หลังจากวันที่ 16 ก.ย.60 ไปแล้ว หรือตรงกับวันที่ 16 ก.ย.62 ซึ่งในระหว่างนี้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มจะมีเวลาปรับปรุงสินค้าเพื่อลดค่าความหวานลง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพสามิตเสนอให้ ครม.เก็บภาษีค่าความหวาน 6 ระดับ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 มก.ต่อลิตร ไม่เสียภาษี 2.ค่าความหวาน 6-8 มก.ต่อลิตร เสียภาษี 10 สตางค์ 3.ค่าความหวาน 8-10 มก.ต่อลิตร เสียภาษี 30 สตางค์ 4.ค่าความหวาน 10-14 มก.ต่อลิตร เสียภาษี 50 สตางค์ 5.ค่าความหวาน 14-18 มก.ต่อลิตร เสียภาษี 1 บาท และ 5.ตั้งแต่ 18 มก.ต่อลิตรขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากพ้นเวลาผ่อนผัน 2 ปี และกฎหมายเก็บภาษีจริงแล้ว 2 ปี หรือรวม 4 ปี หากค่าความหวานไม่ลดลง กรมจะปรับขึ้นภาษีแบบขั้นบันได สำหรับภาษีค่าความหวานใหม่ จะใช้กับเครื่องดื่ม 111 รายการ เช่น ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง โดยเครื่องดื่มชูกำลังจะเสียภาษีค่าความหวานสูงสุด 18 มก.ต่อลิตร น้ำอัดลม 10-14 มก.ต่อลิตร ขณะที่กฎกระทรวงฉบับ 30 จะระบุถึงภาษีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ และยาสูบ ซึ่งเป็นกลุ่มอ่อนไหวมากที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ