เปิดพฤติกรรมอำพราง POLAR

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดพฤติกรรมอำพราง POLAR

Date Time: 15 ส.ค. 2560 05:01 น.

Latest

“เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในประเทศไทย จังหวัดไหนบ้าง? ที่ทำเลมีศักยภาพ พร้อมให้ทุนใหญ่ลงทุน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องที่สร้างความตกตะลึง ท่ามกลางความบาดเจ็บเสียหายของผู้ถือหุ้นรายย่อยหนักสุดคงหนีไม่พ้นกรณีที่ ศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด!! บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) (POLAR)

เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทนี้ บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่า 1.3 หมื่นราย หุ้นมากกว่า 90% อยู่ในมือรายย่อย

พลิกปูมย้อนประวัติจะพบความไม่ชอบมาพากล การหมกเม็ดปกปิดข้อมูล ที่สะท้อนความไม่มีธรรมาภิบาลของบริษัทแห่งนี้มากมาย นอกจากเปลี่ยนชื่อมา 4 หนจาก บมจ.นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ หรือ HTX มาเป็น บมจ.ลิฟวิ่งแลนด์ (LL) หลังออกจากแผนฟื้นฟูในปี 56 มาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็น บมจ.วธน แคปปิตัล (WAT) และล่าสุดคือ POLAR

ยังพบว่า ช่วง 4 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 56—59 บริษัทขาดทุนแทบทุกปี โดยปี 56 ขาดทุน 125 ล้านบาท ปี 57 พลิกมามีกำไรเพียง 40 ล้านบาท ก่อนจะกลับมาขาดทุนอีกครั้งในปี 58 จำนวน 378 ล้านบาท และขาดทุนบักโกรกอีก 755 ล้านบาทในปี 59

และ POLAR น่าจะเป็นหุ้นที่มีทุนจดทะเบียนสูงที่สุด ถึง 9.95 แสนล้านบาท โดยมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 2.55 แสนล้านบาท บนพาร์หรือมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 30 บาท แต่ล่าสุดหุ้น POLAR ถูกห้ามซื้อขาย ราคาสุดท้ายอยู่ที่ 0.28 บาท สาเหตุเพราะช่วง 4 ปีมานี้ บริษัทได้เพิ่มทุนถี่ยิบถึง 13 ครั้ง สูบเงินจากกระเป๋ารายย่อยด้วยการแจกแถมวอแรนท์ (W) จากนั้นก็จะเพิ่มทุนเสนอขายเฉพาะเจาะจง (PP) ให้นักลงทุนเฉพาะกลุ่มก๊วนตัวเองในราคาต่ำๆ

พร้อมๆ กับการปล่อยข่าวขายฝันลงทุนโครงการหรู ล่อแมลงเม่าให้เข้ามาลากราคาหุ้นให้สูงขึ้น ก่อนจะทุบให้ไหลร่วง จนทำให้รายย่อย “ติดหุ้น” ในราคาสูงจำนวนมาก

ส่วนเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน ก็จะผันออกไปซื้อที่ดินหลายแห่งในราคาสูงเกินเหตุ และวางเงินมัดสูงมาก ทั้งการซื้อที่ดินผืนใหญ่ที่พังงามูลค่ารวมกันเกือบ 4,000 ล้านบาท ที่ว่ากันว่าซื้อแพงกว่าราคาประเมินหลายสิบเท่า!!

และจนป่านนี้ ที่ดินผืนดังกล่าวยังคงถูกทิ้งร้างไม่ได้เข้าไปพัฒนาโครงการหมื่นล้านตามที่ขายฝันไว้ ว่าจะสร้างรายได้เข้าบริษัทมหาศาล!! จนเป็นที่กังขาว่า เงินก้อนใหญ่ที่โยกออกไปจากบริษัทคราวนั้น มีใครได้ประโยชน์ผันเข้ากระเป๋าตัวเองไปบ้าง!!

รวมทั้งการทำสัญญาซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน 936 ล้านบาท โดยวางมัดจำสูงถึง 350 ล้านบาท ที่จนป่านนี้ยังไม่สามารถนำเงินไปจ่ายค่าที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งเกินเวลาที่ระบุในสัญญาเดือน มิ.ย.60 สุ่มเสี่ยงต่อการถูกริบเงินมัดจำ!!

และยังมีกรณีการซื้อหุ้นบริษัทเดย์โพเอทส์ ในราคาสูงปรี๊ด 308 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ที่ปรึกษาการเงินได้ประเมินว่าหุ้นมีมูลค่าเพียง 47 ล้านบาทนั่นหมายถึงว่า ซื้อมาสูงกว่าราคาประเมินถึง 261 ล้านบาท!! แถมใจดีวางมัดจำให้ผู้ขายก่อน 120 ล้าน โดย 1 ในผู้ขายหุ้นเดย์โพเอทส์ ให้ POLAR คือบริษัท ธนวรินทร์ ซึ่งมีนายสุรพงศ์ เตรียมชาญชัย เป็นเจ้าของ แถมยังเป็นผู้ถือหุ้น POLAR ขณะนั้นด้วย แม้สุดท้ายต้องยกเลิกดีลการซื้อขายหุ้นครั้งนี้

นี่ยังไม่นับรวมการเข้าไปลงทุนซื้อหุ้น บมจ.เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) และหุ้นบริษัทลูกของ บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) ที่ในที่สุดก็ต้องขายทิ้งในราคาต่ำกว่าทุน ส่งผลให้ขาดทุนกว่า 194 ล้านบาท!!

พฤติกรรมหมกเม็ดไม่ชอบมาพากลของบริษัทแห่งนี้ นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจู่ๆ บริษัทได้แอบไปยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง อ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว หากไม่เข้ากระบวนการฟื้นฟู อาจประสบภาวะล้มละลายเพราะมีหนี้งอกขึ้นมา 5,733 ล้านบาท!!

สร้างความตกใจให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียวบริษัทเพิ่งแจ้งงบการเงินไตรมาส 1 ต่อตลาดหลักทรัพย์ ฐานะยังดีมีหนี้แค่ 465 ล้านบาท และมีสินทรัพย์มากถึง 5,045 ล้านบาท

บริษัทอ้างว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้น 1,640.87 ล้านบาท เป็นหนี้เดิมที่เกิดจากศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษายกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเมื่อครั้งปี 48 ทำให้บริษัทยังคงมีหนี้สินก้อนเดิมอยู่ ส่วนหนี้อีกกว่า 3,627 ล้านบาทยิ่งชวนให้น่ากังขา โดย POLAR แจ้งว่าเป็นหนี้ที่มีผู้มาฟ้องร้องให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหาย เพราะเสียประโยชน์จากการยกเลิก โครงการที่พังงา โดยเรียก ค่าเสียหายเป็นเงินถึง 3,620 ล้านบาท!!

แต่หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน บริษัทก็กลับมายื่นศาล “ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ” ชักเข้า ชักออก พฤติกรรม ไม่ต่างจากเด็กเล่นขายของ!! บนผลประโยชน์ ได้—เสียของผู้ถือหุ้นรายย่อย

แต่ที่สร้าง ปรากฏการณ์ช็อกฟ้าผ่าผู้ถือหุ้นรายย่อยและหน่วยงานกำกับตรวจสอบทั้งตลาดหลักทรัพย์และสำนักงาน ก.ล.ต.คือ หลังบริษัทแจ้งเรื่องขอถอนการฟื้นฟูกิจการเพียงวันเดียว POLAR ก็ถูกศาลล้มละลายสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด!! ซึ่งเป็นผลจากเจ้าหนี้รายหนึ่งไปฟ้องล้มละลาย โดยที่ POLAR รับรู้มาตลอดแต่กลับปกปิดเงียบ ไม่แจ้งข้อมูลอันสำคัญนี้ต่อตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุน!!

ท่ามกลางความกังขามากมาย ต่อผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าหนี้ที่ไปฟ้องล้มละลายจนนำมาสู่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น เป็นเพียงอดีตคู่สัญญาคือ นายกำแหง หุ่นหิรัณย์สาย ที่เคยตกลงซื้อหุ้นในบริษัทย่อยของ POLAR มูลค่าเพียง 105 ล้านบาท และต่อมาบริษัทแจ้งยกเลิกระบุว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะซื้อหุ้นนี้แล้ว แต่สุดท้าย นายกำแหงผู้นี้ย้อนกลับมาเป็นเจ้าหนี้และฟ้องล้มละลายบริษัทในที่สุด!!

น่าสงสัยว่า ทุกอย่างเหมือนเป็นการจับวาง วางหมากวางเกมวางเป็นแผนไว้หมดแล้ว ว่าจะต้องนำพา POLAR เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย ไม่ว่าจะล้างบัญชีปล่อยให้ล้มละลาย หรือจะเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการสุดท้ายแล้วความ
เสียหายก็ตกอยู่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร นอกจากบทเรียนความโลภที่จะต้องจดจำและเรียนรู้ไปพร้อมกับการขาดทุนหมดเนื้อหมดตัวไปกับ “หุ้นชั้นต่ำ” ของบริษัทนี้แล้ว หน่วยกำกับดูแลทั้งตลาด หลักทรัพย์ ก.ล.ต. ดีเอสไอ จะต้องผนึกกำลังทำงานร่วมมือกันเพื่อกระชากหน้ากากหาตัวการที่สร้างความเสียหายให้กับบริษัทมหาชนแห่งนี้ให้จงได้

และที่สำคัญ นี่เป็นสัญญาณเตือน ให้ต้องกลับไปตรวจสอบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพฤติกรรมฉ้อฉล ปกปิด หมกเม็ด แจ้งเท็จ อีกมากมายหลายบริษัทที่กำลังจ่อคิวเป็นรายต่อไป!!

วณิชยา แสงทอง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ