แจกเงินเยียวยาเกษตร 3,000 บ. หอการค้าฯ โล่งใจน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจไม่มาก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แจกเงินเยียวยาเกษตร 3,000 บ. หอการค้าฯ โล่งใจน้ำท่วมฉุดเศรษฐกิจไม่มาก

Date Time: 9 ส.ค. 2560 07:01 น.

Summary

  • ครม.เห็นชอบเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 5.6 แสนครัวเรือน ครัวเรือนละ 3,000 บาท ขณะหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเหนือ–อีสาน 9.57 พันล้านบาท กระทบจีดีพีแค่ 0.064% ชี้คนไทยกังวลน้ำท่วม เศรษฐกิจไม่ฟื้น ทำความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.ลด

Latest

รัฐเก็บตกเงินหมื่นกลุ่มสูงอายุ

ครม.เห็นชอบเยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม 5.6 แสนครัวเรือน ครัวเรือนละ 3,000 บาท ขณะหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเหนือ–อีสาน 9.57 พันล้านบาท กระทบจีดีพีแค่ 0.064% ชี้คนไทยกังวลน้ำท่วม เศรษฐกิจไม่ฟื้น ทำความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค.ลด

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากพายุตาลัสและพายุเซินกา โดยอนุมัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 1,685 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท ช่วงภัยวันที่ 5 ก.ค.-15 ส.ค. 2560 เกษตรกรได้รับผลกระทบ 561,520 ครัวเรือน โดยเกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนและประกอบกิจกรรมการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก่อนเกิดภัยเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบให้ทุกส่วนราชการ นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภาคใต้มาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ต้องประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและยังมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยนำไปใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ด้วย โดยขยายระยะเวลาขอสัญญาจ้างก่อสร้างที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือไปอีก 120 วัน สำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง และขยายระยะเวลาออกไปอีก 70 วัน ผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม

วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯประเมินผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เบื้องต้นพบว่า มีความเสียหายกว่า 9,574 ล้านบาท จากภาคการเกษตร 4,774 ล้านบาท ภาคธุรกิจ การค้า และอุตสาหกรรม 3,434 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินต่างๆ เช่น ถนน สาธารณูปโภค 1,366 ล้านบาท มีผลทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลง 0.064% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และหากสถานการณ์ยืดเยื้อความเสียหายไม่น่าเกิน 15,000 ล้านบาท หรือกระทบเศรษฐกิจไม่เกิน 0.03-0.05%

“คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนหลังจากนี้ฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 3.6% ตามเป้าหมายเดิม แต่ศูนย์ฯจะทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจใหม่อีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้”

ทั้งนี้ ได้สอบถามผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจใน 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในขณะนี้ พบว่า มีเพียง 31.7% เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบทางตรงอีก 46% ได้รับผลกระทบทางอ้อมที่เหลือไม่ได้รับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบระดับปานกลาง เพราะยังสามารถจัดหาสินค้าต่างๆ ได้ตามปกติ ส่วนภาคธุรกิจมีเพียง 32.7% เท่านั้นที่ระบุว่ายอดขายลดลงกว่า 20% และกำไรลดลง 18.5% เนื่องจากน้ำท่วมทำให้ประชาชนเดินทางลำบาก จึงออกมาจับจ่ายใช้สอยลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขาย แต่ไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างทางธุรกิจในวงกว้าง โดยคาดว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะมีผลกระทบ 1 เดือนครึ่ง จากนั้นอีกภายใน 2 เดือนครึ่งก็จะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้”

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ค.60 ปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.60 อยู่ที่ 73.9 ลดลงจาก 74.9 ในเดือน มิ.ย.60 ซึ่งลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือน ม.ค.60 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 51.7 ลดจาก 52.9 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือน ธ.ค.59 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 83.1 ลดจาก 84.1 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 62.2 ลดจาก 63.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 69.1 ลดจาก 70.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 90.4 ลดจาก 91.5

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการมาจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียง– เหนือ ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรส่วนใหญ่ยังทรงตัวอยู่ระดับต่ำในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้นมากนัก จึงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวระดับสูง

“ศูนย์ฯมองว่ารัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพื่อเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน ซึ่งจะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้น”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ