นายวีระพล จิรประดิษฐกุล โฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการศึกษาแนวทางเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (แบ็กอัพ เรต) ในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) กำลังผลิตรวม 200 เมกะวัตต์ จำนวน 6,200 ราย ที่ กกพ.กำลังศึกษา และมอบให้ 3 การไฟฟ้า ประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมทำข้อมูล ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปอัตราการจัดเก็บชัดเจน แต่จะมีการเลื่อนการจัดเก็บออกไป 1-2 ปี ซึ่งรวมถึงเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ หากมีการจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้า เบื้องต้นจะเก็บเงินค่าสำรองไฟฟ้าจากผู้ผลิตโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 5-10 เมกะวัตต์เป็นต้นไป ส่วนบ้านเรือนที่กำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 2 กิโลวัตต์ จะได้รับการยกเว้นเพราะไม่มีผลต่อต้นทุนการสำรองไฟฟ้า ที่รัฐต้องจัดเตรียมให้ “อยากให้เข้าใจว่า ปัจจุบันภาครัฐมีการเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองขนาดใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้น การเก็บค่าสำรองไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และอีก 1-2 เดือนข้างหน้า กกพ.จะออกหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าสำรองไฟฟ้าในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ขนาดเล็กเพิ่มเติมด้วย ส่วนโซลาร์รูฟท็อปต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 1-2 ปียังไม่ได้ข้อสรุป แนวโน้มการผลิตไฟฟ้า มีความนิยมขึ้นจากต้นทุนราคาโซลาร์เซลล์ที่ถูกลง และผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายก็ต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว”.