หมดสิทธิ์ชักดาบ กรมบังคับคดี ย้ำลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง2หมื่น ต้องชำระ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หมดสิทธิ์ชักดาบ กรมบังคับคดี ย้ำลูกหนี้เงินเดือนไม่ถึง2หมื่น ต้องชำระ

Date Time: 18 ก.ค. 2560 18:42 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • กรมบังคับคดี แจง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.วิธีความแพ่ง ฉบับที่ 30 มีผลบังคับใช้ 4 ก.ย. ลดขั้นตอนดำเนินการ ไม่ต้องรายงานศาลขออนุญาตขายทอดตลาด ย้ำลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่น ยังต้องชำระหนี้ตามเดิม ไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยจะท่วม

Latest


กรมบังคับคดี แจง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.วิธีความแพ่ง ฉบับที่ 30 มีผลบังคับใช้ 4 ก.ย. ลดขั้นตอนดำเนินการ ไม่ต้องรายงานศาลขออนุญาตขายทอดตลาด ย้ำลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่น ยังต้องชำระหนี้ตามเดิม ไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยจะท่วม...

เมื่อวันที่ 18 ก.ค. น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี ชี้แจง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. เป็นต้นไป โดยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้นับเป็นการปฏิรูปการบังคับคดีทั้งระบบ เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการบังคับคดี และลดการประวิงคดี

ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ คือ 1. กำหนดวิธีการยึดทรัพย์สินประเภทต่างๆ ให้มีความชัดเจนและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 2. เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจออกคำสั่งอายัดได้เอง และอายัดสิทธิ์เรียกร้องได้ทั่วประเทศ 3. ยกเลิกขั้นตอนการรายงานศาลขออนุญาตขายทอดตลาด 4. การขายทอดตลาดสามารถดำเนินการในวันหยุด หรือนอกเวลาทำการปกติได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล 5. การยื่นคำร้องขอให้กำหนดหรือคัดค้านวิธีการขาย ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 3 วัน นับแต่ทราบวิธีการขาย 6. ยกเลิกการคัดค้านราคาเสนอสูงสุดในการขายทอดตลาดและผูกพันราคา และ 7. ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีมีสิทธิ์เข้าสู้ราคาเองในการขายทอดตลาด เพื่อให้ได้ราคาที่ตนต้องการ หรือหาบุคคลอื่นมาสู้ราคา

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ คือ ทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี (ยึดไม่ได้) ประกอบ 1. เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้สอยส่วนตัว ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 20,000 บาท 2. สัตว์ สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ ในส่วนที่ราคาประเมินไม่เกิน 100,000 บาท 3. สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือหรือแทนอวัยวะ 4. ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย เช่น ที่ดินที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาห้ามโอน และ 5. ทรัพย์สินที่โอนกันไม่ได้ตามกฎหมาย

ส่วนเงินหรือสิทธิ์เรียกร้องที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี (อายัดไม่ได้) ประกอบด้วย 1. เบี้ยเลี้ยงชีพตามที่มีกฎหมายกำหนด 2. เงินเดือนของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ 3. เงินเดือนของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท 4. เงินรายได้บุคคลภายนอกยกเป็นคราวๆ เพื่อเลี้ยงชีพ เงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท

5. บำเหน็จ หรือค่าชดเชยหรือรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ หรือลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ในส่วนที่ไม่เกิน 30,000 บาท และ 6. เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้รับ อันเนื่องจากความตายของบุคคลอื่นตามจำนวนที่จำเป็นในการดำเนินการฌาปนกิจศพตามฐานะของผู้ตาย โดยระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ซึ่งลูกหนี้ก็ต้องใช้หนี้ตามกฎหมาย และให้เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

พร้อมย้ำว่า ลูกหนี้ที่ถูกบังคับคดีตามกฎหมายเดิมยังต้องชำระหนี้ตามเดิม จะอ้างว่ามีเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาทไม่ได้ ซึ่งยอมรับว่า กฎหมายที่ออกมามีผลสะท้อน 2 ด้าน ฝ่ายลูกหนี้อาจจะดีใจคิดว่าไม่ต้องชำระหนี้ ขณะที่เจ้าหนี้ก็คิดว่าจะไม่ได้หนี้คืน เพราะไม่รู้จะบังคับหนี้อย่างไร แต่สิ่งที่กรมบังคับคดีเป็นห่วงคือ กลัวประชาชนจะไม่มีวินัยทางการเงิน

"อยากทำความเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ออกมาเพื่อปลดหนี้ แต่ช่วยดูแลให้ลูกหนี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และยืนยันว่าเมื่อเป็นหนี้ยังต้องชำระ ไม่เช่นนั้นดอกเบี้ยก็จะท่วม และควรจะเลือกการผ่อนจ่ายหรือเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อลดต้นและลดดอก ซึ่งกรมบังคับคดีพร้อมจะดูแลทั้ง 2 ฝ่าย"


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ