ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต ออกบทวิเคราะห์ทิศทางผู้ประกอบการไทย โดยระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นผ่านรายได้รวมของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ประมาณการรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในไทยสูงแตะ 54.2 ล้านล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 5 ปีย้อนหลัง เฉลี่ยที่ 5.5% แต่ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวอาจจะไม่ได้สะท้อนศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทย
เนื่องจากเห็นการแฝงตัวของบริษัท ที่แม้จะยังมีการประกอบกิจการและรับรู้รายได้อยู่ แต่มีผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการที่ไม่เพียงพอต่อต้นทุนทางการเงิน อันอาจส่งผลให้บริษัทกลุ่มนี้ แม้จะยังดำเนินธุรกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ทำไปโดยปราศจากจิตวิญญาณ ที่เรียกว่า บริษัทซอมบี้ (Zombie Firm) ซึ่งมีหนี้สิน แต่ไม่มีความสามารถที่จะสร้างกำไรเพื่อนำมาชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างไม่คาดคิด
ทั้งนี้ การระบุบริษัทซอมบี้ในทางสากล จะวิเคราะห์ผ่านอัตราความสามารถของบริษัทในการชำระดอกเบี้ย ซึ่งแสดงถึงบริษัทที่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยได้ 3 ปีติดต่อกัน โดย ttb analytics ได้ทำการศึกษาผ่านกลุ่มตัวอย่าง ที่มีงบการเงินที่มีความน่าเชื่อถือกว่า 54,000 ราย พบว่ามีบริษัทตกอยู่ในภาวะกำไรไม่พอชำระดอกเบี้ย หรือเรียกว่าบริษัทซอมบี้ ในสัดส่วนกว่า 9.5% ของทั้งหมด โดยส่วนใหญ่แฝงตัวอยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอีสูงกว่าองค์กรขนาดใหญ่
นอกจากนั้น ที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ttb analytic ระบุว่า ยังเห็นแนวโน้มบริษัทที่ผลประกอบการเริ่มแย่ลงในกลุ่มที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ Zombie Firm หรือเรียกว่ากลุ่ม “ติดเชื้อ” ซึ่งเป็นสัญญาณที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนกลายเป็นบริษัทซอมบี้ จำนวนไม่น้อยกว่า 35.5% โดย ttb analytics ระบุว่ากลุ่ม “ติดเชื้อ” คือบริษัทที่ประสบปัญหากำไรไม่เพียงพอต่อการชำระดอกเบี้ยจ่าย ในปีงบการเงิน 2 ปีติดต่อกัน หรือประสบปัญหาดอกเบี้ยจ่าย มีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำไร ในปีงบการเงิน 3 ปีติดต่อกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเป็น Zombie Firm สูง จากอุตสาหกรรมที่ร่วงโรย (Sunset Industry) ที่มีแนวโน้มผลประกอบการอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมสินค้าแฟชั่น และอุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ช่วงขาลงของระดับราคาสินค้า ที่ส่งผลต่อการขาดทุนในสินค้าคงคลัง เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และเคมีภัณฑ์
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่