6 แม่น้ำ+1 ต้นน้ำ ดร.สันติธาร กะเทาะต้นตอ ปัญหาสินค้าจีนทะลักไทย ชี้ ต้องอุดรอยรั่วกฎหมาย-ภาษี

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

6 แม่น้ำ+1 ต้นน้ำ ดร.สันติธาร กะเทาะต้นตอ ปัญหาสินค้าจีนทะลักไทย ชี้ ต้องอุดรอยรั่วกฎหมาย-ภาษี

Date Time: 22 ส.ค. 2567 14:58 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • เมื่อไทยกำลังเป็นปลายน้ำ ของการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ผ่าน 6 แม่น้ำ ที่มี 1 ต้นน้ำ คือ "จีน" จากต้นตอของสินค้าล้นตลาดและกระจายออกสู่ต่างประเทศด้วยราคาที่ต่ำมากๆ จนสร้างปัญหาให้กับธุรกิจร้านค้าในประเทศอื่น แล้วประเทศไทยจะรับมืออย่างไร? นำเสนอผ่านมุมมอง ดร.สันติธาร เสถียรไทย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการวิเคราะห์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

Latest


“สินค้าจีนกำลังล้นตลาด” และจีนได้เทกระจาดสินค้าเหล่านั้นด้วยราคาที่ถูกมากๆ มาในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศเราผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า เมื่อปี 2566 ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนอยู่มากถึง 36,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท โดยส่งออกที่ 34,164 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นำเข้า 70,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้อมูลล่าสุดในครึ่งปีแรกของปี 2567 ประเทศไทยส่งออกน้อยลง -1.2% แต่กลับมียอดการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดกับไทยประเทศเดียว หลายประเทศทั่วโลกกำลังรับมือกับโมเดลกระจายสินค้าจากจีน ทั้งการตั้งกำแพงภาษี เพิ่มมาตรการป้องกันการนำเข้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยสินค้าจำนวนมหาศาลและความสามารถของจีน ทำให้มีโมเดลใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ

ทำไมสินค้าจีนทะลักถึงไม่ได้เป็นเรื่องที่จะแก้ปัญหาแบบ Quick Win หรือใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งได้ และประเทศไทยจะรับมือกับปัญหานี้ที่แม้จะมีมานานแล้ว แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอย่างไรได้บ้าง?

ดร.สันติธาร เสถียรไทย อดีตผู้บริหารบริษัทเทคฯ และภาคการเงินระดับโลก ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกรรมการและกรรมการอิสระ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาและเสนอแนวทางการรับมือ โดยโพสต์ผ่าน Facebook ว่า

หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าไทยเสมือน “ปัญหาน้ำท่วม” การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทำไม “น้ำ” (สินค้าจากจีน) ถึงล้น และน้ำเหล่านี้ไหลผ่าน “แม่น้ำ” (ช่องทางการขาย) สายไหนบ้างมาที่ไทย

ในฐานะคนที่เคยทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มและวิเคราะห์การค้า-การลงทุนระหว่างประเทศมานาน วันนี้อยากชวนแกะประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ที่ผมคิดว่ามีความซับซ้อนสูงเพราะมีหลายปัญหาถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน

สินค้าจีนทะลักเข้าไทยมาจากทางไหนบ้าง?

ดร.สันติธาร ให้ข้อมูลว่า เส้นทางและโมเดลของการนำเข้าสินค้าจีน ผ่านการเปรียบเทียบว่าเป็น 6 แม่น้ำที่เป็นเส้นทางสำคัญที่สินค้าไหลเข้าประเทศ ดังนี้

  1. ผู้ขายคนไทย (ทั้งที่ขายออนไลน์และออฟไลน์) - ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อขายในร้านค้าทั่วไปในไทย หรือผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, Lazada และ TikTok เพื่อขายให้ผู้บริโภคไทย

    ผลกระทบ : อาจมีผลเสียต่อผู้ผลิตในประเทศ เพราะต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่อย่างน้อยรายได้ยังอยู่กับคนไทยที่นำสินค้าเข้ามาขาย

  2. ผู้ขายในต่างประเทศ - ผู้ขายในต่างประเทศใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคไทยโดยไม่ต้องจดทะเบียนในประเทศ

    ผลกระทบ : เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ

  3. ผู้ขายต่างชาติที่แปลงตัวเป็นไทย - ผู้ขายต่างชาติที่เปิดธุรกิจและร้านค้าออนไลน์ในไทย แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้านำเข้าจากจีน

    ผลกระทบ : ผู้ขายต่างชาติในร่างไทยเหล่านี้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและมักหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือธุรกิจในท้องถิ่นในหลายมิติ (และปัญหานี้ก็ไม่ได้อยู่แต่ในภาคการค้าเท่านั้นแต่กระทบหลายอุตสาหกรรมเลย)

  4. โมเดล Factory-to-Consumer - ส่งตรงจากโรงงานถึงมือลูกค้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Temu อาจช่วยให้โรงงานในจีนสามารถให้ร้านค้าขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย ถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด

    ผลกระทบ : เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาถูกมาก นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการอาจยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มี “ผู้ขาย” ชัดเจน



  5. โมเดล China +1 - สงครามการค้าทำให้บริษัทข้ามชาติเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่เคยส่งออกจากโรงงานในจีนไปอเมริกาโดยตรง เปลี่ยนเป็นส่งจากจีนมาไทยก่อนแล้วค่อยไปอเมริกา ในกรณีนี้ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีนเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

    ผลกระทบ : การนำเข้าประเภทนี้ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ อาจทำให้เกินดุลกับประเทศอื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกามากขึ้น จึงไม่ควรดูแต่ดุลการค้าไทย-จีนเท่านั้น อาจได้ภาพไม่ครบ และหากกีดกันสินค้าประเภทนี้อาจมีต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยสูง

  6. แพลตฟอร์มต่างชาติ - แพลตฟอร์มเป็นของคนสัญชาติใด จดทะเบียนในไทยหรือไม่ เรื่องนี้ชอบถูกผสมเข้าไปกับประเด็นที่ว่าคนขายเป็นคนไทยหรือเปล่า และผู้ผลิตสินค้าอยู่ในไทยหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคนละประเด็นกัน

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่แพลตฟอร์มเป็นสัญชาติไหน เพราะแพลตฟอร์มไทยก็อาจนำสินค้าเข้าจากจีนหากต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และแพลตฟอร์มต่างชาติก็มีคนขายสัญชาติไทย

แล้วไทยควรจะรับมืออย่างไร?

ดร.สันติธาร ให้แนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาสินค้าจีนทะลักตลาด ไว้ดังนี้

โจทย์สำคัญจะสังเกตได้ว่าปัญหาสำคัญของการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยผู้ขายในต่างประเทศ, ผู้ขายต่างชาติ และแพลตฟอร์มที่ใช้โมเดลส่งตรงจากโรงงานถึงลูกค้า (ข้อ 2-4) คือการไม่บังคับใช้กฎกติกาที่มีของไทย ทั้งเรื่องมาตรฐานสินค้า ภาษีต่างๆ กับคนขายต่างชาติทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ จนกลายเป็นว่า ทำให้กฎกติกาของไทยทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียเอง

“หัวใจคืออย่างน้อยควรสร้าง Level Playing Field ทางกฎกติกา ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่มีอยู่แล้วกับธุรกิจและคนขายต่างชาติที่อยู่ในและนอกประเทศทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค, ภาษี และ พ.ร.บ. ธุรกิจต่างด้าว”

อย่างไรก็ตาม เข้าใจได้ว่าบางส่วนเป็นปัญหาเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องมีการอุดรอยรั่ว แต่บางส่วนเป็นแค่เรื่องการบังคับใช้กฎที่มีอยู่แล้วแต่ขอยังไม่ลงรายละเอียดตรงนี้

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์สำคัญอีกอย่างจากประเด็น โมเดล China +1 คือ ในอนาคตต้องพยายามดึงการผลิตให้มาอยู่ในประเทศไทยให้มากที่สุด และพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สร้าง Value Added ได้มากขึ้น จะได้ลดการนำเข้า, เพิ่มมูลค่าให้การส่งออก, สร้างงาน-รายได้ในประเทศ (เช่น อุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย)

หัวใจ คือไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไหนหากมีธุรกิจในไทยก็ควร :

  • ปฏิบัติตามกฎหมายไทย

  • จ่ายภาษีในไทย

  • และจะให้ดีต้องช่วยพัฒนา SME ไทยด้วย โดยเราควรเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติที่มีสาขาในหลายประเทศเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย พัฒนา SME ให้กลายเป็น exporter ได้เจาะตลาดใหม่ๆ อย่างที่หลายประเทศก็ทำมาแล้ว

แต่ประเด็นที่แก้ยากที่สุดและเป็น “ต้นน้ำ” ของปัญหาก็คือสภาวะกำลังผลิตเกินในประเทศจีน (Oversupply/Overcapacity) ทำให้ต้องระบายส่งออกสินค้าในราคาถูกสู่โลก ซึ่งทำให้ไปแข่งกับสินค้าส่งออกไทยในตลาดอื่นอีกด้วย

เสมือนน้ำที่ล้นเขื่อนต่อให้เราพยายามกั้นแม่น้ำต่างๆ สุดท้ายน้ำก็จะไหลเข้ามาในช่องทางใหม่ๆ อยู่ดี ต่อให้ปิดรูรั่วทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ก็ต้องยอมรับว่าหลายสินค้าจากจีนก็อาจจะต้นทุนถูกกว่าไทยอยู่ดี

เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ได้แก้ได้ง่ายๆ หลายธุรกิจหาตลาดส่งออกใหม่, สร้างแบรนด์ และขยับขึ้น Value Chain เพื่อไม่ต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกโดยตรง แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนทำได้ ส่วนบางประเทศเลือกใช้กำแพงภาษี หรือมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดในบางสินค้า แต่ก็ต้องระวังเพราะหากทำผิดพลาดอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจในประเทศและทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ดร.สันติธาร ทิ้งท้ายว่า

“คงไม่สามารถพูดถึงการแก้ปัญหาอย่างลงลึก แต่ที่แน่ๆ นี่คงไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ได้แต่ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงานและมียุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ชัดเจน”

“ปล. บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษประเทศใดเป็นพิเศษเพราะปัญหานี้อาจมาจากประเทศไหนก็ได้ และหลายข้อก็เป็นปัญหาที่ประเทศเราต้องรีบแก้ไขที่ตัวเราเอง”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Facebook: สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์