ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ (วพม.) รุ่น 2 ได้จัดเสวนา “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร” โดยนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.กำลังจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่
ประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง “ทั้ง 5 แผนจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเดือน พ.ค.นี้ เพื่อนำไปประกอบเข้าสู่แผนพลังงานชาติ และเปิดรับฟังความคิดเห็นไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา ก่อนเสนอให้ ครม.อนุมัติต่อไป”
สำหรับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือแผน PDP ฉบับใหม่ ยังเน้นเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ก๊าซธรรมชาติ 30-40% ไฮโดรเจน 5-20% เป็นต้น เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ.2065 ที่สำคัญจะพยายามรักษาอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดแผน 20 ปี ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันหรือ 4 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าแต่ละประเทศแตกต่างกันตามนโยบายการบริหารค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งประเทศ ไทย ภาครัฐและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พยายามบริหารค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและไม่ให้สูงเกินจนกระทบประชาชน โดยค่าไฟฟ้าปัจจุบันตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนอาจรู้สึกว่าแพงขึ้น เพราะอากาศร้อนทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น คาดฤดูร้อนนี้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ของไทยอาจพุ่งทะลุ 36,000 เมกะวัตต์ได้ จากวันที่ 22 เม.ย.พีกไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าพุ่งขึ้นไปถึง 35,830 เมกะวัตต์
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า คาดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้ามีหลายรูปแบบ จึงต้องมีการออกแบบระบบขึ้นมาบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าให้เห็นภาพที่ชัดเจน หวังว่าแผน PDP ฉบับใหม่จะมีความชัดเจนเรื่องนี้ ซึ่ง ปตท.มองว่าค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำดังนี้ 1.การใช้ไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริงและไม่ทำให้ระบบเกิดการบิดเบือน 2.ให้ความรู้ผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่องการประหยัดไฟฟ้า 3.นำเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าเข้ามาใช้ 4.เปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ รวมถึงในอนาคต โครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยจะยังเป็นรูปแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน (TOU) หรือไม่ และหากยกเลิกต้องมีเวลาให้ผู้ใช้ไฟได้เตรียมปรับตัวด้วย
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.เสนอแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า อาทิ รัฐบาลควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access (ข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่ 3), ภาครัฐควรตั้งงบฯอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ เช่น ค่าไฟฟ้าสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนใต้และสงขลา และปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง เพราะมาตรการใช้ไฟฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ไม่เป็นธรรม คนที่มีบ้านหลายหลัง แต่ไม่ค่อยอยู่บ้านใช้ไฟไม่ถึง 50 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะ ไม่ใช่คนจน ขณะที่คนจนหลายคนอยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวจึงใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ตรงนี้ ขณะที่โครงสร้างค่าไฟต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่