"ดนุชา พิชยนันท์" ไขปัญหาประเทศ ต้องรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

"ดนุชา พิชยนันท์" ไขปัญหาประเทศ ต้องรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Date Time: 25 มี.ค. 2567 05:50 น.

Summary

  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่ผู้คนมักเรียกขานกันว่า “สภาพัฒน์” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2493 ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เสนอความเห็น ให้คำแนะนำ และข้อชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงซับซ้อน เชื่อมโยงหลากหลายมิติมากขึ้น สศช.ซึ่งเป็นเสมือนคลังสมองของประเทศ (Think Tank) ยิ่งต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการชี้นำทิศทางการพัฒนาของประเทศในอนาคต กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนาประเทศทั้งในระยะยาว ระยะปานกลาง และระยะสั้น ได้อย่างชัดเจน มีความสอดคล้อง และบูรณาการร่วมกันทุกระดับ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการ สศช.พิจารณา

ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากปัจจัยนอกประเทศ อย่างสงคราม โรคระบาด การแข่งขันทางการค้า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยภายใน ยังมีอีกหลายประเด็นปัญหาให้ติดตามแก้ไข ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้ประชากร โครงสร้างอุตสาหกรรมไทยที่ยังย่ำอยู่กับที่แม้ 40 ปีผ่านไป ตลอดจนผลิตภาพแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

อะไรคือทางออกของประเทศไทยในภาวะที่ความไม่แน่นอนโอบล้อมอยู่ทั่วไปเช่นนี้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ขอพาไปฟังสิ่งที่ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สะท้อนผ่านความคิดของเขาและทีมงาน สศช. ดังต่อไปนี้

“เศรษฐกิจไทยเติบโตน้อยมา 2 ปีแล้ว ปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัว 2.6% ส่วนปี 2566 ที่ผ่านมาโต 1.9% ปัจจัยกระทบส่วนใหญ่มาจากภายนอกเสียมาก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยติดลบตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2566 ยังดีที่การท่องเที่ยวขยายตัวได้เกินคาดทำให้สุดท้ายเศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัวได้ 1.9%”

ส่วนปี 2567 ดูแนวโน้มตัวเลขส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.2566 และ ม.ค.2567 ขยับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการค้าโลกปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แต่ที่จีดีพียังโตได้ไม่มากแม้การส่งออกจะดี เพราะกำลังการผลิตไม่ได้โตตาม เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิต และการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงอยู่ ถือเป็นเรื่องแปลก เพราะตัวเลขส่งออกโต นำเข้าโต ส่วนต่างของสต๊อกสินค้าลดลง แต่กำลังผลิตไม่เพิ่มขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์
ดนุชา พิชยนันท์

อย่างไรก็ตาม ดัชนีการผลิตในเดือน ม.ค. 2567 แม้ยังติดลบ แต่น้อยลง แสดงว่าเริ่มมีการผลิตมากขึ้น ขยับเป็นเกือบ 60% ของกำลังผลิตรวม เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน ตรงนี้เป็นสัญญาณที่ดี

โดย สศช.คาดการณ์จีดีพีปี 2567 ขยายตัว 2.7% (ค่ากลาง) ถือว่าขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังมีความเสี่ยงมาก ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก และหากไม่มีเหตุการณ์ช็อก (shock) แรง น่าจะขยายตัวดีขึ้นเพราะตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวสูงเกินคาด ซึ่งต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 1 ประกอบ

ปีนี้เครื่องยนต์ที่จะทำให้เศรษฐกิจโต จะอยู่ที่การท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกก็จะยังเป็นหลักเหมือนเดิม โดยต้องพยายามหาตลาดใหม่ๆ และต้องไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์รุนแรงเกิดขึ้น

“เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้จริง แม้ยังมีความเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง ถ้าไม่มีสถานการณ์รุนแรงโดยเฉพาะเหตุการณ์ภายนอกประเทศ เราสามารถใช้เวลานี้เป็นโอกาสในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ถ้าทำสำเร็จ อาจใช้เวลาปีครึ่ง ในการตั้งโรงงาน เข้าสู่กระบวนการผลิต ในระยะต่อไปเศรษฐกิจอาจโตได้ 3% ขึ้นไป แต่ถ้าอยากให้ขึ้นไประดับ 5% ต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (labour productivity) ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโต”

การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ทำได้ต่อเมื่อมีการปรับโครงสร้างการผลิต ที่เรายังทำไม่ได้สักที ประเทศไทยปรับโครงสร้างการผลิตครั้งแรกราวปี 2526 ช่วงนั้นมีการริเริ่มโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ปรับโครงสร้างจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเคมี และรถยนต์

จากวันนั้นถึงวันนี้ 41 ปีผ่านไป ยังไม่มีการปรับโครงสร้างใหม่ ไม่ใช่ปรับไม่ได้ แต่ไม่ได้ตระหนักว่าต้องปรับ คงเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบเดิมยังขายได้ ยังมีความต้องการ ก็ขยายกำลังการผลิตไปเรื่อยๆ ไม่ได้มองว่าต้องมีการคิดค้นเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ

“จนช่วงโควิด มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทำลายล้าง (disrupt) เห็นเวียดนามไล่หลังมา กลัว แต่ไม่ทำอะไร ผมว่าเป็นความรับผิดชอบของทั้งคู่ ทั้งภาครัฐและเอกชน แต่เอาจริงๆ ภาครัฐมีสิทธิประโยชน์ให้ตลอด กระตุ้นให้ปรับต่อเนื่อง แต่เอกชนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมปรับ พิสูจน์กันได้ที่ตัวเลข ชัดเจนว่าปัจจุบัน 40% ของแรงงานที่จ้างกันอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงงานพื้นฐานทั่วไปทั้งนั้น

การใช้เทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งภาคเอกชนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญ มองว่าเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ได้มองว่าเป็นการลงทุน ตอนนี้งบลงทุนด้าน R&D ของทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ที่ 3% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นเอกชนขนาดใหญ่ที่จำเป็นต้องทำและธุรกิจบางรายที่เริ่มทำ แต่ยังน้อยมาก ต้องกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมให้แพร่หลายขึ้น พอมีนวัตกรรม ทักษะแรงงานจะดีขึ้นตามมา

“หลายปีที่ผ่านมา การลงทุนภาคเอกชนลดลงเป็นอย่างมาก ตอนเศรษฐกิจดี การลงทุนภาคเอกชนเคยสูงถึง 20% ของจีดีพี ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.2% จนมีการพูดกันว่าอุตสาหกรรมไทยที่ตอนนี้มีครอบคลุม 40 ชนิด อาจเหลือแค่ 10 ชนิดในอนาคต แม้มองดูน่ากลัวไปหน่อย แต่อาจเป็นไปได้ เพราะอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยสร้างความแตกต่างเท่าไรนัก ผมพูดได้เลยว่าถ้าไม่ปรับ เจ๊งแน่”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายกรัฐมนตรีและสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กำลังพยายามดึงโรงงานผลิตชิปนวัตกรรมใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศ ขยับจากอุตสาหกรรมต้นและกลางน้ำ ไปเป็นปลายน้ำ ผลิตดีไซน์ชิปที่นำไปใช้งานในคอมพิวเตอร์ มือถือ นอกจากนั้นเรายังต้องการการลงทุนผลิตชิปรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ด้วย เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมีความมั่นคงมากขึ้น

ทิศทางนี้ชัดเจนแล้วจากการประกาศ 8 วิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว (Tourism Hub), ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ (Wellness & Medical Hub), ศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub), ศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub), ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค (Logistic Hub), ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub), ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub), ศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub)

“เมื่อรัฐบาลมีนโยบายผลักดันอย่างชัดเจน เอกชนควรตัดสินใจได้แล้ว เรามีความแข็งแรงพอ โดยที่จะไม่ต้องไปกลัวจีน หลายๆอย่างเราแข่งได้ เช่น เครื่องมือแพทย์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ ยิ่งมีประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือ Geo Politics เข้มข้น ยิ่งเป็นโอกาสที่จะเริ่ม สิ่งที่เราต้องกลัวก็คือการที่เราไม่ได้ขยับจีนเดิมรับจ้างผลิตแบบเรา แต่เขาพัฒนาต่อเนื่อง ขณะที่เรารับจ้างผลิตมา 40 ปีแล้ว ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง”

ปัญหาใหญ่ของประเทศอีกประการคือการกระจายรายได้ จีดีพีเป็นเครื่องชี้วัดหนึ่ง แต่ไม่ได้วัดว่าทุกคนในประเทศต้องสบาย ประเด็นคือการกระจายรายได้ต้องดี ต้องสามารถสร้างโอกาสให้กับคน โดยไม่มีอะไรมาบิดเบือนตลาด ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำยังมี แต่ช่องว่างลดลงเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้คนไทยรายได้สูง 10% แรกกับกลุ่มรายได้ต่ำ 10% ล่าง มีรายได้ต่างกันเกือบ 10 เท่า ตอนนี้เหลือไม่ถึง 5 เท่า

กลุ่มสำคัญคือภาคเกษตร 11-12 ล้านคน ต้องทำให้มีรายได้เลี้ยงชีพ มีรูปแบบสวัสดิการที่ครอบคลุมคนหลายกลุ่ม เพราะจีดีพีจะโตแค่ไหน ก็ไม่เท่าการมีรูปแบบสวัสดิการที่ดูแลทุกคน ปัญหาคือระบบสวัสดิการของเรากระจัดกระจาย และคนหลายกลุ่มยังไม่ได้อยู่ในระบบ หากทำให้ครอบคลุมได้ จะช่วยให้คนมีความมั่นคงในชีวิตได้ในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้เปราะบางมาก ไม่มีสิทธิอะไรนอกจาก 30 บาทรักษาทุกโรค และเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่เพียงพอ แก่ตัวไม่มีแรงทำงาน แล้วจะอยู่อย่างไร ระบบสวัสดิการของประเทศ ควรต้องปรับใหม่ รวมทั้งระบบประกันสังคม ต้องดูแลให้มากกว่าเดิม

แรงกดดันอีกประการของสังคมไทย ยังอยู่ที่การเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากคนอายุเกิน 60 ปี มีสัดส่วนเกิน 20% ของประชากรทั้งหมดแล้ว

“เมื่อเราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ประเทศจะเดินต่อไปได้ อยู่ที่ขีดความสามารถของคน สิ่งนี้สิ่งสำคัญมาก”

สังคมสูงวัยยังนำมาซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการรักษาพยาบาล จึงอาจต้องมีการปรับโครงสร้างการเก็บภาษีที่ยังไม่ครอบคลุม ราว 10 ปีที่แล้วสัดส่วนการเก็บรายได้ต่องบประมาณของไทยอยู่ที่ 18-19% ตอนนี้เหลือ 13% คนที่อยู่ในฐานภาษีมี 11 ล้านคน จ่ายภาษีจริง 4 ล้านคน นอกนั้นรายได้ไม่ถึงและได้รับลดหย่อนมากขึ้น

ภาระจากการเป็นสังคมผู้สูงวัยทำให้แรงกดดันทางการคลังสูงขึ้น ถ้าไม่ปรับโครงสร้างภาษี เราจะต้องขาดดุลงบประมาณไปเรื่อยๆ ระยะยาวภาระหนี้จะเพิ่มขึ้น และถ้าหารายได้ไม่พอ อาจมีปัญหาเรื่องการจ่ายหนี้ประเทศทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

“ดังนั้นหากเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมา อาจต้องดูจังหวะว่าจะสามารถขยับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตได้หรือไม่ แต่ต้องดูช่วงเวลาให้ดี เพราะเก็บภาษีแวตเพิ่มกระทบคนแน่นอน”

พูดมาทั้งหมด ดูเหมือนมีแต่ปัญหา แต่ความหวังก็มี เช่นนโยบาย IGNITE THAILAND ที่รัฐบาลประกาศออกมา เป็นทิศทางไปสู่การเติบโต หากทำได้เร็วเศรษฐกิจก็จะเดินหน้าได้เร็ว ส่วนการกระตุ้นด้วยการอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋าประชาชนโดยตรงนั้น ถามว่ายังมีคนที่ยากลำบาก ต้องการความช่วยเหลือไหม มีแน่นอนถามว่ารู้ไหมว่าเป็นใคร ตอบว่ารู้ มีอยู่ประมาณ 15 ล้านคน ความช่วยเหลือจะสามารถพุ่งเป้าไปหาคนเหล่านี้ได้ หรือจะช่วยคนอื่นด้วย ต้องดูว่าเหมาะสมไหม อยู่ที่การออกแบบมาตรการ

จากการศึกษาพบว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จะกระทบเศรษฐกิจประมาณ 1% วิธีรับมืออยู่ที่เราจะสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้มากน้อยแค่ไหน

2 ปีที่แล้ว ยังเป็นช่วงที่อัตราการเกิดไม่สามารถทดแทนอัตราการเสียชีวิตได้ เพราะคนเกิดน้อยลงมาก จนมีการประเมินว่าประชากรไทยอาจเหลือครึ่งนึง ซึ่งเป็นการประมาณการในช่วง 30 ปีข้างหน้า สศช.ทำแผนประชากรไว้แล้ว มีแนวทางตั้งแต่การสร้างการเกิดที่มีคุณภาพและพัฒนาคน ระบบสวัสดิการต่างๆ ไปจนถึงช่วงปลายของชีวิต

สังคมไทยในช่วงถัดไป คงจะต้องมีการเอาคนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและทำให้กลุ่มนี้เป็นส่วนนึงของระบบเศรษฐกิจ แบบเดียวกันกับสมัยที่คนจีนอพยพเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เพราะเศรษฐกิจไทยที่พัฒนามาถึงทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากลูกหลานของคนจีนที่อพยพเข้ามาในไทย

เรื่องประชากรเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำตั้งแต่การเกิด พัฒนาการศึกษาและทักษะ ให้คนไทยมีความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพ (productivity) มากขึ้น ในอนาคตอีก 20–30 ปีข้างหน้า สังคมไทยคงจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสังคมที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติมากขึ้น จากแรงงานที่ลดลงและต้องนำเข้าคนที่มีความสามารถเข้ามา.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ