งานวิจัยจาก 3 หน่วยงานของโลกและไทย แนะการจัดโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ที่เหมาะสม

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

งานวิจัยจาก 3 หน่วยงานของโลกและไทย แนะการจัดโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ที่เหมาะสม

Date Time: 29 ก.พ. 2567 20:33 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เห็นสอดคล้องพร้อมแนะการจัดโครงสร้างอัตราภาษีบุหรี่ที่เหมาะสม

Latest


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างและอัตราบุหรี่ไป 2 ครั้ง ในปี 2560 ซึ่งขณะนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะนำไปสู่การจัดเก็บภาษีแบบอัตราเดียว หรือ Single Rate แต่ด้วยอัตราภาษีอัตราเดียว 40% ที่กำหนดไว้สูงมากเกินไปจึงมีการชะลอการใช้ภาษีอัตราเดียวและจัดเก็บแบบ 2 อัตรามาจนถึงปัจจุบัน และปรับอัตราภาษีอีกครั้งในปี 2564

ล่าสุดในปี 2567 นี้กรมสรรพสามิตกำลังศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่อีกครั้งเพื่อนำไปสู่การจัดเก็บแบบอัตราเดียว โดยได้มีการอ้างอิงถึงหน่วยงานวิชาการที่น่าเชื่อถือไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ล้วนสนับสนุนให้จัดเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตามการที่ทั้ง 3 หน่วยงานต่างก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกันในประเด็นนี้ ย่อมต้องมีหลักวิชาการและเหตุผลที่เหมาะสมวันนี้จึงขอหยิบยกข้อเสนอแนะและเหตุผลประกอบจากทั้งสามหน่วยงานมานำเสนอโดยสรุป เพื่อให้ไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาเสนอโครงสร้างภาษีบุหรี่ที่เหมาะสม

World Bank หรือ ธนาคารโลก เขียนในรายงานเรื่อง Tobacco Tax Reform at the Crossroads of Health and Development: A Multisector Perspective ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2560 ธนาคารโลกระบุว่า โครงสร้างภาษีแบบหลายอัตรานั้นไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อยี่ห้อหรือผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอัตราภาษีขั้นล่าง ซึ่งจะบั่นทอนผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขของการขึ้นภาษียาสูบที่ตั้งเป้าไว้ โครงสร้างภาษีแบบหลายอัตรายังหมายถึงรายได้ภาษีของรัฐหลังการขึ้นภาษีจะต่ำกว่าในกรณีที่มีโครงสร้างภาษีแบบอัตราเดียว

ADB หรือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เขียนในรายงาน Excise Tax Policy and Cigarette Use in High-Burden Asian Countries เมื่อตีพิมพ์เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ในประเทศไทย โดยระบุว่า ผู้ผูกขาดยาสูบในประเทศไทยได้ใช้กลยุทธ์การบรรเทาภาระภาษี ซึ่งช่วยปกป้องผู้บริโภคจากการขึ้นราคา

ตัวอย่างเช่น ผู้ผูกขาดได้ลดความยาวของบุหรี่จากปกติ 79-88 มิลลิเมตร (มม.) เป็น 71 มม. และเปิดตัวยี่ห้อใหม่ในราคาที่ถูกมาก ทำให้ราคาถูกลงจากการดึงบุหรี่กลุ่มนี้ลงไปอยู่ในอัตราภาษีขั้นล่าง ช่วยให้อุตสาหกรรมจ่ายภาษีลดลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นที่น่าพอใจนัก และยังย้ำว่า การที่รายได้ภาษีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่ถึง 5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังพร้อมทั้งแนะนำให้ประเทศไทยยกเลิกโครงสร้างภาษีแบบหลายอัตรา

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ขณะที่โครงการวิจัยเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบเพื่อเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปภาษีสรรพสามิตยาสูบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อปี 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้อ้างอิงคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยระบุว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอแนะให้ใช้โครงสร้างระบบภาษียาสูบที่มีความง่ายต่อการจัดเก็บ (Simplifying)

การมีระบบภาษีที่ซับซ้อนมีต้นทุนในการบริหารการจัดเก็บสูง ก่อนให้เกิดการเลี่ยงภาษี (Tax Avoidance) นำไปสู่การหนีภาษี (Tax Evasion) ที่เพิ่มขึ้น และสร้างแรงจูงใจที่จะออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ที่เสียภาษีต่ำเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ดังนั้น จึงควรมีระบบภาษียาสูบอัตราเดียว โดยเฉพาะกรณีที่จำแนกอัตราภาษีตามราคาขายปลีกสำหรับยาสูบประเภทเดียวกัน (Single Uniform Tax)

นอกจากนี้รายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังยัง ระบุว่า จากการตอบสนองของอุตสาหกรรมต่อระบบอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบ 2 อัตรา ซึ่งทำให้บริษัทบุหรี่รายใหญ่ของต่างประเทศปรับลดราคามาแข่งขันกับบุหรี่ภายในประเทศ แสดงให้เห็นว่า เครื่องมือภาษีและกลยุทธ์ด้านราคา อาจไม่ใช่แนวทางที่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรสำหรับการยาสูบแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ รายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเสนอให้กำหนดอัตราภาษีแบบผสม โดยใช้อัตราตามมูลค่าตั้งแต่ 24.5-30.5% และอัตราตามปริมาณคงเดิมในขณะนั้น (1.2 บาทต่อมวน) ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมทั้งในมิติด้านผลกระทบภายนอก รายได้ภาษี และบริบททางสังคม

อย่างไรก็ตามจากเหตุผลและหลักการของข้อเสนอแนะให้ใช้โครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวจากทั้งสามหน่วยงานเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอีกต่อไปที่ประเทศไทยจะกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีที่เหมาะสม เพื่อที่ระบบภาษียาสูบในประเทศไทยจะได้เดินหน้าต่อตามแนวทางปฏิบัติสากลได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศไทยทั้งในด้านการควบคุมการบริโภคบุหรี่และการสร้างรายได้ภาษีรัฐเองต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ โครงสร้างภาษีบุหรี่ ได้ที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ