การกลับมาของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" จะใช้บทเรียน ประสบการณ์ในอดีตทำให้ดีขึ้น

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

การกลับมาของ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" จะใช้บทเรียน ประสบการณ์ในอดีตทำให้ดีขึ้น

Date Time: 26 ก.พ. 2567 05:45 น.

Summary

  • ในวัย 69 ปี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง พร้อมเปิดใจกับ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ว่า “มีบทเรียนมาแล้ว ตั้งใจจะใช้ประสบการณ์ในอดีต ทำให้ดีขึ้น รู้แล้วว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ จึงคิดว่าจะทำให้ดีกว่าและดีที่สุดได้”

Latest

“อุตสาหกรรมแบตเตอรี่”  จิ๊กซอว์ที่ต้องต่อให้เต็ม สานฝันไทย “ฮับผลิต EV” ภูมิภาค

ในวัย 69 ปี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง หลังจากลุกออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน ส.ค.2548 เพื่อไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.2549

19 ปีผ่านไป สุริยะบอกว่า ภาพลักษณ์ของกระทรวงคมนาคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก เป็นกระทรวงใหญ่เกรด A งบประมาณมหาศาล ถูกจับตามองได้ง่าย เขามองเป็นเรื่องปกติ เพราะโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่กระทรวงคมนาคมดูแล ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ เป็นโครงการที่ใช้งบลงทุนเยอะ หลายโครงการเป็นการลงทุนระดับเมกะโปรเจกต์ การถูกเพ่งพินิจ พิจารณา ตรวจสอบ เป็นเรื่องธรรมดา

ในฐานะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (University of California, Berkeley) ผู้ถูกโชคชะตาพัดพาให้ไปรับตำแหน่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่หลายครั้งหลายครา สุริยะ อดีตนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยพลิกเส้นทางชีวิตตัวเอง เบนเข็มไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ถึงที่สหรัฐอเมริกา บอกว่า กระทรวงคมนาคมเป็นงานที่ถนัด ชอบ และอยากทำที่สุด

การกลับมาในครั้งนี้ ยังเป็นครั้งที่เขาเปิดใจกับ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ว่า “มีบทเรียนมาแล้ว ตั้งใจจะใช้ประสบการณ์ในอดีต ทำให้ดีขึ้น รู้แล้วว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ จึงคิดว่าจะทำให้ดีกว่าและดีที่สุดได้”

ต.ค.68 รถไฟฟ้า 20 บาทมาหาแน่เธอ!

“ผมโชคดีมากที่ท่านปลัดชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน เคยเป็นทีมทำงานให้ผมเมื่อ 20 ปีก่อน ท่านเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล มีความสามารถมาก กลับมาทำงานร่วมกันจึงเป็นเรื่องง่าย อุ่นใจ”

เริ่มจากนโยบายรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการแบ่งเบาภาระค่าเดินทางของคนเมืองและชานเมือง โดยเฉพาะคนจนเมืองที่มีภาระค่าเดินทางโดยรถไฟฟ้าค่อนข้างสูง ยกตัวอย่าง การเดินทางโดยรถไฟฟ้าที่ถูกที่สุดจากแยกปากเกร็ด นนทบุรี ไปสยามสแควร์ ต้องขึ้นสายสีชมพูลงสถานีวัดพระศรีฯ ราคา 45 บาท จากนั้นเปลี่ยนเป็นขึ้นสายสีเขียวไปลงสยามในราคา 62 บาท รวมราคาเที่ยวเดียวที่ 107 บาท

เราอยากเห็นรถไฟฟ้าเป็นการเดินทางสาธารณะที่เอื้อมถึงได้จริง ตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ไม่ว่าจะผ่านสายไหน เปลี่ยนสีไหน ต้องเก็บ 20 บาท เชื่อว่าพอทำราคาลงมาแล้ว คนใช้มากขึ้น จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าแก่ผู้ประกอบการในที่สุด เห็นได้จากการนำร่องเก็บราคาค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและรถไฟชานเมืองสายสีแดง พบว่ามีปริมาณผู้โดยสารมากขึ้นทำสถิติใหม่

จากการศึกษาพบว่า หากจะคุมราคาโดยสารรถไฟฟ้าที่สูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะต้องใช้เงินชดเชยประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท เบื้องต้นมองที่ระยะ 2 ปีก่อน ต้องหาเงินมาให้ได้ 16,000 ล้านบาท แหล่งเงินอาจมาจากการนำกำไรปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. มาสนับสนุน รวม 2 ปีจะได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท ที่เหลือมองหาจากแหล่งอื่น เช่น กองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล

การจะผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้เกิดขึ้น ครอบคลุมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด ยังต้องมีการออกกฎหมายขึ้นมารองรับ โดยร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

กฎหมายฉบับนี้จะช่วยกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีการบังคับใช้ส่วนลดค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าข้ามสาย ประชาชนจะได้ประโยชน์จากการจัดเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว ทำให้ค่าโดยสารถูกลง โดย ณ ไทม์ไลน์ปัจจุบัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้ได้ครอบคลุมจริงในเดือน ต.ค.2568

อีกครั้ง...กับ “ศูนย์กลางการบินภูมิภาค”

การผลักดัน เร่งรัดการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ตอนผมเป็น รมว.คมนาคม สนามบินเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 28 ก.ย. 2549 หลังรัฐประหาร 9 วัน “วันก่อนผมไปตรวจสนามบินสุวรรณภูมิ เห็นความทรุดโทรมที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข เพราะเปิดใช้งานมากว่า 17 ปีเศษแล้ว ตอนเปิดใหม่ๆ สนามบินสุวรรณภูมิเคยติดอันดับ 7 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ปัจจุบันตกไปอยู่ที่อันดับ 76 เป้าหมายต่อไปคือการขยับขึ้นมาติด 20 อันดับแรกให้ได้”

ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมาก ล่าสุดช่วงตรุษจีน 2567 ยอดเครื่องบินขาเข้าที่สุวรรณภูมิพุ่งแตะวันละ 1,040 เที่ยว ถือว่าหนาแน่นมาก เราต้องรีบเพิ่มจำนวนห้องน้ำ ทำให้ได้มาตรฐาน กลิ่นสะอาด ทัดเทียมสนามบินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังสุวรรณภูมิ รวมทั้งเพิ่มกำลังตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)อีก 600 นาย เพื่อลดความแออัดในส่วนของผู้โดยสารขาเข้า

บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ประเมินว่าในปี 2567 สนามบินสุวรรณภูมิจะมีผู้โดยสารรวม 65 ล้านคน เทียบเท่าปี 2562 (ก่อนโควิดระบาด) ขณะที่ศักยภาพรองรับผู้โดยสารปัจจุบันอยู่ที่ 60 ล้านคนต่อปี แบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) 45 ล้านคน และอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) 15 ล้านคนต่อปี

“ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการบิน เราสามารถเป็นศูนย์กลางหรือฮับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และนายกรัฐมนตรีกำลังเตรียมประกาศแผนยกระดับท่าอากาศยานและเส้นทางการบินหรือ Aviation Upgrade เพื่อนำไปสู่เป้าหมายฮับการบิน ในเดือน มี.ค.2567 ที่จะถึง”

แผนดำเนินงานเริ่มจาก ในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิ มีการทบทวนแผนแม่บทขยายขีดความสามารถสนามบินของ ทอท. ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (ปี 2568-2578) ใหม่ หันมาเดินหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารทางด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงินประมาณ 160,000 ล้านบาท ขนาดใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน ที่มีพื้นที่ประมาณ 450,000 ตารางเมตร รองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 160 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะให้บริษัท เมอร์ฟี/ยาห์น (Murphy/Jahn) เจ้าของผลงานสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นผู้ออกแบบ

มาที่สนามบินดอนเมือง มีการขอพื้นที่สนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือสนามงู ของกองทัพอากาศ คืนกลับมาใช้ประโยชน์ทางการบิน เนื่องจากสนามกอล์ฟงูตั้งอยู่กลางรันเวย์สนามบินดอนเมือง ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกอนุญาตให้ตั้งสนามกอล์ฟ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเหตุผลด้านความปลอดภัย การขอพื้นที่สนามกอล์ฟงู จะทำให้สนามบินดอนเมืองมีพื้นที่เพิ่มเติมอีกราว 360 ไร่ นำไปต่อยอด เสริมศักยภาพสู่การเป็นฮับการบินภูมิภาคได้

เช่นเดียวกับสนามบินภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสนามบินบ้านธิ สนามบินแห่งที่ 2 ของเชียงใหม่และแห่งแรกของลำพูน, สนามบินอันดามันที่จังหวัดพังงา ตลอดจนการขยายศักยภาพสนามบินที่มีอยู่ รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะสายการบินแห่งชาติ ให้เติบโตและตอบสนองต่อแผน Aviation Upgrade ด้วย

“แลนด์บริดจ์” เมกะโปรเจกต์ในรอบ 22 ปี

รัฐบาลตั้งใจผลักดันโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” (Land Bridge) ให้เกิดขึ้นให้ได้ แลนด์บริดจ์ประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) รถไฟรางคู่และระบบท่อเชื่อมระหว่างจังหวัดชุมพรทางฝั่งอ่าวไทยกับจังหวัดระนองทางฝั่งอันดามัน ช่วยร่นระยะทางขนส่งสินค้าทางเรือที่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา และโครงการนี้ถูกผลักดันตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“ในฐานะรัฐบาล เราต้องมองให้กว้างและไกล ขณะนี้ช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่หนาแน่นมาก เกิดอุบัติเหตุบ่อย เป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมระหว่างตะวันออกและตะวันตก ลองคิดดู ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะแน่นขึ้นไปอีก แลนด์บริดจ์ของไทยจะเป็นทางเลือกที่ช่วยแบ่งเบาจราจรทางน้ำในภูมิภาค นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อการเติบโตในวันข้างหน้า ถือเป็นโอกาสประเทศ”

“ทราบใช่ไหมครับว่าโครงการนี้ เราเปิดประมูลแบบให้เอกชนเป็นคนลงทุนเหมาทั้งโครงการ มูลค่ารวมราว 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลรับผิดชอบเฉพาะค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งน่าจะใช้เงินหลักหมื่นล้าน โครงการนี้พิสูจน์ศักยภาพของตัวมันเอง ผ่านความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ตั้งแต่ จีน, กลุ่มดูไบเวิลด์, มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอินเดีย, นักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งจากฝรั่งเศส บริษัทระดับนี้ผมไปหลอกเขามาลงทุนไม่ได้หรอกครับ เขามีศักยภาพ”

“ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่คนในพื้นที่ออกมาต่อต้าน พอลงไปคุยพบว่าเขากังวลเรื่องที่ดินไม่มีกรรมสิทธิ์ จะไม่ได้ค่าเวนคืน ถ้าแก้จุดนี้ได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อีกทั้งโครงการต้องผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว”

เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้โดยไม่มีจุดสะดุด กระทรวงคมนาคมกำลังจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ.ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ขึ้น จากนั้น คาดว่าจะสามารถเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 และเริ่มก่อสร้างในปีเดียวกัน

ส่วนการลงทุนในระบบราง ซึ่งเป็นการเดินทางราคาถูก ปลอดภัย เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ มีแผนขยายรถไฟทางคู่ในเฟส 2 ต่อจากเส้นทางเดิมที่ยังเป็นรางเดี่ยว ใน 7 โครงการ ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร ครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, เด่นชัย-เชียงใหม่

ตลอดจนลงทุนส่วนขยายรถไฟความเร็วสูงจากเส้นทางเดิมกรุงเทพฯ-โคราช ต่อไปยังหนองคาย วงเงินลงทุน 270,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟความเร็วสูงภูมิภาค ไปถึงเมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ