นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือน ม.ค.67 ไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้า 22,649 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 784,580 ล้านบาท ขยายตัว 10% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.66 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือน มิ.ย.65 ส่วนการนำเข้า 25,407 ล้านเหรียญ หรือ 890,687 ล้านบาท ขยายตัว 2.6% ขาดดุลการค้า 2,757 ล้านเหรียญ หรือ 106,107 ล้านบาท การส่งออกของไทยที่ขยายตัวสอดคล้องกับหลายๆประเทศในเอเชีย ตามทิศทางการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับมูลค่าส่งออกเดือน ม.ค.66 ต่ำ เมื่อนำมาเทียบกันเดือน ม.ค.67 จึงขยายตัวสูง อีกทั้งมีแรงหนุนจากการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังคงขยายตัวสูง
ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 9.2% พลิกกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรขยายตัว 14% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 3.8% ต่อเนื่อง 5 เดือน เช่น ข้าวขยายตัว 45.9% โต 7 เดือนติด, ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 5%, ยางพารา ขยายตัว 5.5%, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ขยายตัว 32.2%, เหล็ก และผลิตภัณฑ์ขยายตัว 106.3% ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 3.7%
ด้านตลาดส่งออกตลาดหลักยังขยายตัว 10.5% โดยขยายตัวในทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ 13.7% จีน 2.1% ญี่ปุ่น 1% สหภาพยุโรป 4.5% อาเซียน 18.1%, ตลาดรอง ขยายตัว 8.8% ขณะที่หดตัวในตลาดแอฟริกา 24.2% ละตินอเมริกา 4% สหราชอาณาจักรลบ 1.6%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 67 ยังได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัว อานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง ขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก โดยทั้งปี 67 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายขยายตัว 1-2% จากปี 66 และมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนที่ 24,069-24,328 ล้านเหรียญ ซึ่งพยายามจะทำให้ได้ จากปีก่อนที่เฉลี่ยต่อเดือนที่ 23,810 ล้านเหรียญ
ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ค่าระวางเรือในเส้นทางขนส่งสินค้าที่ต้องผ่านทะเลแดง เช่น ยุโรปปรับลดลงมาเหลือ 2-3 เท่า จากปกติ จากช่วงเดือน ม.ค.67 ที่เพิ่มขึ้นถึง 5-6 เท่า เพราะความต้องการจีนที่จะใช้เรือ และตู้คอนเทนเนอร์ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องจับตาใกล้ชิดว่าจีนจะกลับมาใช้มากอีกหรือไม่หลังจากผ่านช่วงตรุษจีนไปแล้ว รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป โดยเฉพาะเดือน มี.ค.จะกลับมาสูงอีกหรือไม่ เพราะเดือน มี.ค.66 ไทยส่งออกสูงมากถึงกว่า 28,000 ล้านเหรียญ จากการส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นหลัก.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่